วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทริปบ้านเขาแก้ว หอวัฒนธรรมไทยวน ตลาด100ปี

บ้านเขาแก้ว บ้านอาจารย์ทรงชัย

ความประทับใจแรกที่เห็นน่าจะเป็นการที่มีคูน้ำเล็กล้อมรอบตัวบ้าน การที่จะเข้าถึงความเป็นส่วนตัวได้นั้นจะต้องผ่านสะพานไม้เล็ก ที่มีศาลาพักคอยก่อนที่จะถึงลานดินหน้าตัวบ้าน ซึ่งแค่จุดนี้ก็ให้บรรยากาศที่ร่มรื่นแล้ว แม้มองจากภายนอกก็เห็นต้นไม้กั้น space ภายนอก เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวภายในบริเวณบ้าน
อายุตัวบ้านมีความเก่าแก่มากประมาณ100ปี แต่ตัวหลังเปลี่ยนใหม่เป็นสังกะสี การออกแบบบ้านหลังนี้ อ.ท่านบอกไว้ว่า เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากบ้านไทยเก่าๆหลายๆหลังและหยิบเอาจุดเด่นมาปรับปรุงบ้าง และกลายมาเป็นบ้านหลังนี้ ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศบ้านไทยสมัยโบราณ
ลานโล่งด้านหน้าบ้านจะเป็นลานดินไม่ปลูกหญ้า เพราะลานดินเป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทยโบราณ และยังสามารถอุ้มน้ำได้มากเวลาฝนตก ทำให้เย็นสบาย นอกจากนี้ยังทำให้เลี้ยงสัตว์ต่างๆได้สะดวกเหมือนบ้านไทยโบราณสมัยก่อน ที่นิยมเลี้ยงสัตว์หลายๆชนิดให้เกื้อกูลกัน หรือเลี้ยงเพื่อเอาไว้ใช้งาน และเฝ้าบ้าน
ผังอาคารเป็นแบบหมู่เรือน ปลูกรวมกันอยู่ ด้านหลังเป็นสวนมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ ลึก1.60เมตรปลูกเอาไว้ เลี้ยงปลาและเพื่อให้เกิดความร่มรื่น ด้านหลังมีหลายเรือนที่สามารถลงไปสัมผัสกับบ่อน้ำได้ทำให้เกิดกิจกรรมริมน้ำได้เหมือนกับบ้านไทยโบราณเช่น การอาบน้ำ ซึ่งในจุดน้ำจะมีปรากฏในเรือนพักผ่อนที่อยู่ตรงกลางของสระน้ำ และมีแนวต้นไม้บังสายตาเพื่อไว้กันคนนอก และให้เกิดความเป็นส่วนตัวด้วย ด้านหลังของที่เป็นทุ่งนาโล่ง ฉะนั้นเมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำจะไม่สูงขึ้นแต่จะไหลลงสู่ทุ่งนาแทน




หอวัฒนธรรมไทยวน
เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้อิทธิพลมาจากล้านนา ตัวอาคารถูกปลูกอยู่บนที่ลานชัน แต่สามารถแก้ปัญหาพื้นที่ได้ โดยลดระดับอาคารลงมาเรื่อยๆทำให้เกิดเป็นพื้นที่ต่างๆเช่น ลานที่ยื่นออกมาด้านล่างใช้เป็นส่วนนั่งพัก และเก็บของได้ ส่วนบางพื้นที่มีการเล่นระดับมาทำให้เกิดเป็นเวทีที่มีระดับความสูงไม่เท่ากัน และด้านล่างเป็นลานที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ทำให้เกิด space ที่ดูร่มรื่น
และด้วยที่อาคารแห่งนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำ จึงทำให้เกิดความชุ่มชื้นร่มเย็น และได้มีการปลูกมีเรือนแพเอาไว้อยู่อาศัยด้วย



ตลาด100ปี

ตัวตลาดจะมีอาคารเก่าตั้งยาวเป็นแถวขนาบ2ข้างทาง แต่จะมีอยู่ฝั่งเดียวที่มีอายุถึง100ปี แต่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีความคงทนมากขึ้น เช่นหลังคาที่เปลี่ยนใหม่เป็นสังกะสี และ บางอาคารก็ได้ให้วัสดุสมัยใหม่เข้ามาให้ความแข็งแรงด้วยเช่น ปูน หรือเหล็ก ส่วนอีกฝั่งได้ต่อเติมจนหมดเมื่อ40 ปีที่ผ่านมา
ประวัติแต่เดิมจากผู้คนแถวนั้นได้บอกเอาไว้ คือพื้นที่แถวนี้เมื่อก่อนจะมีครอบครัวอยู่เพียง 4 ครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานเอาไว้ แต่จากนั้นก็ได้ล้มหายตายจากไปบ้าน หรือ เปลี่ยนที่อยู่อาศัยไปบ้าง หรือบ้างก็มีครอบครัวใหม่เข้ามาอยู่อาศัย แต่ยังมีคงเหลือครอบครัวเดิมเอาไว้จริงๆแค่1ครอบครัวเท่านั้น (ตามที่ได้ฟังจากคำบอกเล่า)

ทริปสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
อาคารเป็นแบบอยู่เป็นหมู่เรือน สร้างอยู่บนน้ำทั้งหมดอาศัยอยู่รวมกันเป็นเครือญาติ ด้านหลังเป็นทุ่งกว้างใช้สำหรับเพาะปลูก โดยรอบสามารถสัญจรรอบตัวบ้านได้เนื่องจากมีกระดานไม้ปูอยู่ ในบางจุดมีการใช้วัสดุสมัยใหม่มาใช้แก้ปัญหาในเรื่องต่างๆเช่น แผ่นสังกะสี นำมาทำเป็นรางรองน้ำใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนโครงสร้างบางส่วนก็ใช้วัสดุสมัยใหม่ผสมกับของเดิมที่มีอยู่ ทำให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมพื้นถิ่นและสมัยใหม่ได้เด่นชัด
มีการเล่นระดับของ space อยู่หลายจุด ทำให้เกิดการใช้งานได้หลากหลายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น ชานหน้าบ้านมีการลดระดับของพื้นก่อนขึ้นตัวบ้าน ทำให้เกิดเป็นที่นั่งพักโดยไม่ได้ตั้งใจ และยังทำให้สามารถทิ้งหลังคาลงมาได้ต่ำกว่าเดิมอีกด้วย เมื่อมองจากภายนอกจึงดูสมส่วนมากกว่า และไม่จำเป็นต้องยกหลังคาให้สูงกว่าความเป็นจริง

โรงเรียนรุ่งอรุณ
โรงเรียนแห่งนี้มีแนวคิดที่จะออกแบบอาคารให้เหมือนกับบ้านไทยโบราณโดย จุดที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจะเป็นส่วนของฝ่ายบริหารของโรงเรียน ที่เป็นอาคารแบบหมู่เรือน แต่ภายในถูกประยุกต์ให้เป็นรูปแบบสมัยใหม่ มีการนำเครื่องปรับอากาศเข้ามาใช้ ใต้ถุนถูกประยุกต์ให้สามารถใช้งานได้ เป็นห้องต่างๆ ส่วนชานเรือนด้านบน จะมีกระเบื้องหลังคาเมทัลชีทรองเอาไว้ก่อนส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าไปในห้องที่อยู่ด้านใต้ได้
ส่วนร้านค้าและโรงอาหารต่างๆก็มีส่วนสนับสนุนที่จะให้เด็กได้สัมผัสถึงความเป็นไทย โดยอุปกรณ์บางชนิดอาจจะใช้ใบตองเข้ามาช่วย หรือวัสดุที่เป็นธรรมชาติเพื่อปลูกฝังให้เด็กเกิดความอนุรักษ์ด้วยไปในตัว ลักษณะการออกแบบของตัวร้านค้าและห้องเรียนต่างๆก็ยังใช้ศิลปะแบบไทยประยุกต์เช่นกัน


สถาบันอาศรมศิลป์
เป็นสถาบันสอนการออกแบบในระดับปริญญาโท และเป็นบริษัทออกแบบอีกด้วยที่เน้นไปในเชิงอนุรักษ์นิยม ตัวอาคารเป็นไม้ในบางจุดใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก แต่บางจุดใช้ตกแต่งเพียงอย่างเดียว มีปูนเข้ามาผสมด้วยเพื่อความแข็งแรง และหลังคามุงด้วยหญ้าแฝก เพื่อให้เหมือนกับบ้านไทย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดของบ้านไทยที่มีพื้นที่น้อยและไม่มีฝ้าเพดาน จึงได้เพิ่มระดับของชั้นขึ้นไปเป็นชั้นลอยให้สามารถใช้งานได้อีก ทำให้พื้นที่ที่มีอยู่ข้างบนอันเนื่องมาจากหลังคาที่สูงกว่าบ้านไทยทั่วไป ไม่ต้องสูญเปล่า ซึ่งเป็นข้อหนึ่งที่ตัวผู้เขียนประทับใจมาก เพราะสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ใช้สอยได้เป็นอย่างดี และแก้ไขโดยที่นำข้อบกพร่องเรื่องspaceเพดานที่สูงมาแก้ แต่ยังคงความเป็นไทยประยุกต์ในเรื่องของสัดส่วนอาคารได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มหมู่เรือนอีกเลย
Landscape ภายนอกก็ถูกจัดให้ล้อกับตัวอาคาร มีชานใหญ่สำหรับรับแขกเห็นเด่นอยู่ สูงประมาณ1.50 เมตร มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงข้ามทำให้มีความร่มรื่นชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา การจัดฟังก์ชั่นภายในของตัวสถาบันก็ทำไดอย่างลงตัว แบ่งสัดส่วนกันชัดเจน พื้นที่ใต้ถุนก็ไม่ทำให้เปล่าประโยชน์ใช้เป็นส่วนของห้องสมุดและห้องทำโมเดลได้เป็นอย่างดี

ทริปวันที่9

วันที่1 สิงหาคม 2553
DAY 9 ฟ้าสดใส แดดไม่แรงมาก เมฆพอประมาณ แต่เป็นวันสุดท้ายแล้ว ไม่รู้จะเศร้าหรือดีใจดี


ตื่นสาย มึน ง่วง เพลีย แฮ๊งค์ เมา! สงสัยเมื่อคืนจัดหนักไปหน่อย เมื่อตื่นมาคิดว่าสายแล้ว รีบกระโจนไปอาบน้ำแต่งตัว จากนั้นจึงแพ็คกระเป๋าเก็บของ พร้อมทั้งกระโดดลงไปที่รถก่อนเพื่อนแบบไม่ปรึกษาใคร วางกระเป๋าใต้รถแล้วรีบชิ่งขึ้นไปนอนบนรถก่อนเพื่อนเลย สรุปยังไม่สายมากนัก แอบร้อนอยู่บนรถตั้งนาน แต่ไม่เป็นไรดีกว่าตกรถ พอล้อเริ่มหมุนก็เข้าสู่ห้วงนิทราอีกครั้ง

วัดราชบูรณะ
สิ่งที่ได้เห็นเป็นสิ่งแรกคือลานดินที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยอีกครั้ง แต่ตัววัดมีสไตล์ล้านนาอยู่บ้าง ทำให้เหมือนได้เห็นวัดโบราณก่อนที่จะล่มสลายไป เมื่อเข้าไปด้านในมีการปรับปรุงตัววัดใหม่ ใช้วัสดุสมัยใหม่เข้ามามากจึงทำให้ความประทับใจหลังจากที่เข้ามาภายในวัดดูน้อยลงกว่าที่ควร แต่ภายนอกมีสถานที่ให้สะเดาะห์เคราะห์และทำบุญมากมายหลายอย่าง เช่นลอดใต้ท้องเรือ ระฆังใหญ่หน้าอุโบสถ ปีนลอดง่ามต้อนโพธิ์ในวัด และทำบุญถวายพระ




วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากและมีพระพุทธรูปให้สักการบูชาอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ที่น่าสนใจที่สุดคงจะเป็นการจัดวางวิหารคด และเส้นทางการสัญจร ในวิหารคดมีพระพุทธรูปตั้งอยู่เรียงรายกัน แต่มีหลักในการตั้งโดยทิศทางที่หันหน้าจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่จะเป็นคนละทิศกับพระประธาน และในทางเดินของวิหารคดจะเจาะช่องแสง เป็นเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมือนสไตล์สุโขทัย ที่ได้ไปชมมาก่อนหน้านี้




สิ้นสุดการเดินทาง เหลือแต่การกลับไปสู่เมืองหลวง เมืองที่เน้นแต่เทคโนโลยีและแสงสีเสียง เมืองที่รับเอาวัฒนธรรมทุกๆด้านมาโดยไม่ปฏิเสธ เมืองที่ลืมรากเหง้าของตัวเอง เมืองที่ผมเติบโตมา แม้ว่าแต่ละเมืองที่ได้ไปชมที่จะมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่การจะรักษาวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสด้วยนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและยากยิ่งกว่าทุกอย่าง และสิ่งเหล่านั้นกำลังจะเลือนหายไป จะมีสักกี่คนที่เห็น จะมีสักกี่คนที่เข้าใจ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่านอกจากการออกแบบอาคารให้ดูเท่แล้ว ไม่เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ มันจะมีความหมายอะไร ผมก็คือหนึ่งในสักคนนั้น ขอบคุณที่ทำให้ผมเริ่มเข้าใจอะไรบางอย่าง ขอบคุณทริปเก้าวันที่แสนมีค่า ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้ความรู้ตลอดการเดินทาง ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่ร่วมฝ่าฝันเก้าวันแสนโหดและแสนสนุกไปด้วยกัน ขอบคุณเช่นกันนะที่ไปเที่ยวด้วยกัน ตลอดเวลาเก้าวัน^ ^ และที่สำคัญ ขอบคุณอาจารย์จิ๋วมากครับ

ทริปวันที่8

วันที่31 กรกฎาคม 2553
DAY 8 ฟ้าสดใส แดดแรง เมฆน้อย


วันนี้ตื่นเช้ามาไม่ค่อยงัวเงียเหมือนเดิมแล้ว อาจเป็นเพราะร่างกายเริ่มชินกับการนอนน้อยแล้วก็เป็นได้ แต่เรื่องซื้อข้าวยังเป็นเรื่องปกติอยู่จึงจำใจไปซื้อแต่เช้าเช่นเคย วันนี้เลือกผัดกระเพราไข่ดาว พร้อมทั้งเลือกเมนูที่เหมือนกันให้เพื่อนอีก2คนที่ฝากซื้อให้ด้วย

บ้านญาติอาจารย์ตี๋
ความประทับใจแรกที่เห็นก็เกิดขึ้นที่โถงทางเข้าแล้ว วัสดุที่เห็นเกือบทั้งหมดเป็นไม้ และสีที่ให้ดูสบายตามากๆ แต่กลับดูน่าสนใจอย่างบอกไม่ถูก เมื่อเดินเข้าไปภายในตัวบ้าน มีการนำของเก่ามาตกแต่งเพื่อให้เป็นสไตล์เก่าๆ โบราณ สิ่งที่สะดุดตาอีกอย่างคือวิทยุโบราณ ที่ยังใช้งานได้อยู่เปิดให้เสียงดังไพเราะไปทั่วบ้าน และเมื่อเดินมาถึงสวนหลังบ้าน เป็นสวนที่จัดแล้วดูสงบมากๆ ให้บรรยากาศของความเป็นต่างจังหวัดมาก แต่ดูบางที่มีการเอาสไตล์ตะวันตกมาใช้ แต่โดยหลักๆคือความเป็นไทย ชิงช้าไม้ ที่นั่งไม้ หรือแม้แต่ที่นอนพักผ่อน ให้ความรู้สึกที่สงบเอามากๆ




สนามบินสุโขทัย
เป็นสถานที่ที่ตัวผู้เขียนรอคอยมาตลอด8วัน ด้วยความชอบส่วนตัวเป็นคนที่ชอบสนามบินมากๆมาตั้งแต่เด็ก และยิ่งเป็นสนามบินที่มีการประยุกต์แบบไทยเข้ามาผสมผสานแล้วด้วยนั้น ยิ่งทำให้รู้สึกดีมากขึ้นกว่าเดิมอีก
ตัวสนามบินทางเจ้าของนั้นต้องการให้ยึดแนวความคิดของไทยเป็นหลัก จึงได้มีการออกแบบตัวอาคารให้ถอดแบบมาจากวัดไทย และนำมาประยุกต์ให้ดูทันสมัยโดยใช้อิฐ ศิลาแลง และฉาบปูนด้วยบางส่วน แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานภายในยังคงเป็นสมัยใหม่อยู่ทั้งหมด แต่เพียงแค่ตกแต่งให้ดูเป็นโบราณสถานเท่านั้น และทุกๆจุดของอาคารจะประดับด้วยดอกกล้วยไม้เสมอซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเอง
เจ้าของออกแบบตั้งใจให้นำเสนอความเป็นไทยมากที่สุด และต้องการที่จะนำเสนอจังหวัดสุโขทัยด้วย จึงมีสวนพฤกษาและ ฟาร์มเลี้ยงควายเอาไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือลงจากเครื่องได้สัมผัสความเป็นไทยอย่างชัดเจน ทำให้ภายในตัวterminal จึงใช้ลมธรรมชาติเป็นหลัก แทนที่จะมีเครื่องปรับอากาศ แต่ตรงส่วนอาคารใหญ่จะใช้ระบบน้ำเปิดเอาไว้ที่หลังคา เพื่อให้เกิดความเย็นจากธรรมชาติโดยแท้จริง และตัวอาคารพยายามให้เปิดโล่งมากที่สุด มีผนังทึบน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างspace ภายในและภายนอก





Sukhothai Heritage Resort
นอกจากนี้ภายในตัวสนามบินยังมีโรงแรมหรูระดับ 4 ดาวอีกด้วย และยังคงใช้แนวความคิดมาจากวัดโบราณเช่นเดิม สิ่งที่เด่นเป็นจุดหลักของโครงการคือสระน้ำใหญ่ที่อยู่ด้านในของโครงการ และมีน้ำพุเปิดตลอดเวลา ทำให้รู้สึกชุ่มชื้น และไม่ร้อนจนเกินไป บางจุดมีการเจาะช่องแสงเพื่อล้อเลียนกับช่องแสงที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง อยู่เป็นระยะๆ แต่มีบางจุดเป็นข้อบกพร่องที่เห็นได้ชัดจากการออกแบบ เช่น จุดที่เป็นช่องแคบระหว่างโถงกับทางเดิน จะมีช่องที่เป็นร่องน้ำอยู่กว้างประมาณ40cm แต่มีรางระบายน้ำและต้นไม้มาขวางไว้ ซึ่งทำให้สามารถดูได้ว่าเป็นงานที่มาตกแต่งภายหลัง และอีกสิ่งที่ประทับใจในงานนี้อีกอย่างคือก่อนที่จะเข้าไปในตัวโรงแรมต้องข้ามสะพานเสียก่อนและมีศาลาขนาดใหญ่มารองรับ เหมือนเป็นการข้ามเข้าสู่ความเป็นส่วนตัว และยังเป็นการแสดงถึงแนวความคิดที่เป็นไทยอีกด้วย





สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
ตัวอย่างวันนี้ทำให้ได้เห็นถึงความฉลาดของภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งการใช้งานในแต่ละอย่างสัมพันธ์กันอย่างลงตัว แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เช่นชานเรือนที่ยื่นออกมาเพราะไม้ที่เกินมาแต่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมายเช่น วางกระถางต้นไม้เพื่อความงาม หรือเป็นทางเทียบเกวียนให้ขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งได้อีกด้วย และด้วยวัสดุที่ธรรมชาติที่ใช้ คือไม้ขนาดต่างที่มาทำเป็นผนังไม่ว่าจะเป็นไม้แผ่นหรือไม้ไผ่ แต่มันทำให้เกิดเส้นสายของตัวมันเองอย่างไม่ได้ตั้งใจ และเป็นความงามอย่างบอกไม่ถูกเลย แต่ที่ประทับใจมากที่สุดตั้งแต่ได้มาชมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือ เมื่อเดินไปทางหลังบ้าน จะพบกับทุ่งนาข้าวที่เขียวขจี แม้ว่าจะเป็นเวลาเย็นแต่แสงแดดอ่อนๆก่อนพระอาทิตย์ตกดินตัดกับสีเขียวขจีของทุ่งนาดูงดงามเอามากๆ เป็นบรรยากาศที่ไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดหรือรูปภาพได้เลย





คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของทริป แน่นอนต้องมีการเลี้ยงฉลองสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว และด้วยความที่ห้องนี้มีงานฉลองอยู่ทุกคืน มีหรือที่คืนนี้จะปล่อยให้ห้องเงียบเหงา และด้วยวันที่พิเศษกว่าทุกคืน จึงมีการฉลองด้วยเครื่องดื่มบางชนิด สุดท้ายก็จบลงด้วยการนอนเกือบสว่างอีกครั้ง และก็หลับลงไปพร้อมกับความมึนเมา

ทริปวันที่7

วันที่30 กรกฎาคม 2553
DAY 7 ฟ้าครึ้มทั้งวัน แต่เมฆน้อยกว่าเมื่อวาน ถ่ายรูปแล้วเข้ากับโบราณสถานเป็นอย่างดี


เช้าวันใหม่อันแสนสดใส ต้องออกไปซื้อกับข้าวทานเองอีกแล้วในตอนกลางวัน จริงๆก็ไม่รังเกียจเรื่องอาหารการกินอยู่แล้ว แต่แอบสงสัยทุกที ว่าตอนกลางวันเวลาเราพักก็มีร้านอาหารเสมอเลย จริงๆไม่จำเป็นต้องซื้อเลยก็ได้นี่นา แต่เห็นอาจารย์บอกอาหารที่เราจะไปทาน มันไม่ค่อยอร่อย เลยซื้อกินก็ได้(ละกัน)

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร
สิ่งประทับอันดับแรกก่อนที่จะได้เข้าไปชมตัวโบราณสถานก็คือ สะพานแขวนระนาบคู่ขนาดใหญ่ที่ใช้ข้ามแม่น้ำนั่นเอง แม้ว่าจะเป็นเพียงสะพานที่ให้คนข้าม แต่ด้วยวัสดุที่ใช้เป็นพื้นไม้และลวดสลิงขึงตึง กลับเข้ากับบรรยากาศของสถานที่ได้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นการเตรียมตัวที่จะเข้าไปผจญภัยในโบราณสถาน
ตัววัดนี้ได้มีการสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัย บางรายละเอียดแสดงให้เห็นถึงศิลปะแบบขอมเช่น ซุ้มประตูซึ่งเป็นประติมากรรมศิลาแลงประดับปูนปั้น แต่ตัวปรางค์ประธานของวัดเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น อาจเป็นเพราะว่าเป็นช่วงที่มีการรวมสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา จึงได้รับอิทธิพลเข้ามาด้วย ส่วนภายในโบราณสถานรอบๆปรางค์มีทางเดินและก่อผนังปิดอยู่สามชั้นด้วยกัน แต่ช่องทางเดินแต่ละช่องมีความกว้างไม่น่าเกิน1.50เมตร แต่ไม่รู้สึกอึดอัดเลย อาจเป็นเพราะมีการเจาะช่องแสงอยู่ตลอดบางเป็นบางช่วง และ แต่ละชั้นก็มีการเล่นระดับ ทำให้เป็นถึงความไม่น่าเบื่อจนเกินไป แต่ในอดีตได้มีการสันนิษฐานอีกว่าเป็นสถานที่ ที่ให้พระสงฆ์นั่งเรียงราย ล้อมอยู่ตลอดแนว และให้ประชาชนได้เดินผ่านเข้ามาตามทางนี้ ช่องแสงที่เจาะไว้ก็เพื่อให้ได้เห็นองค์พระนั่นเอง





วัดกุฎีราย
ตัววิหารถูกก่อด้วยศิลาแลงไปจนถึงหลังคา ส่วนตัวซุ้มของวิหารนี้จะแปลกกว่าที่อื่นตรงที่เป็น คอเบล ตัวอิฐจะถูกก่อขึ้นไปและเหลี่อมล้ำจนไปจบกันบนยอด จึงมีลักษณะเมื่อดูแล้วจะเป็นซุ้มปลายแหลม ในพ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้บูรณะโบราณสถานที่และมีการซ่อมแซมและเพิ่มเติมบางจุดใหม่เอาไว้ด้วย การเรียงอิฐในตำแหน่งอื่นๆก็ได้เรียงให้สัมพันธ์กับอาคารไม้เดิม




ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก
เป็นการออกแบบโดยใช้โครงสร้างสมัยใหม่ แต่มีแนวความคิดที่ดึงรูปแบบของโบราณสถานสมัยก่อนเอาไว้ด้วย วัสดุที่ใช้ก็เป็นอิฐ และศิลาแลงเหมือนโบราณสถานศรีสัชนาลัย มีการเจาะช่องแสงเป็นแนวตรง ซึ่งเหมือนกับช่องแสงในโบราณสถาน นอกจากนี้ยังออกแบบให้ space ภายในและภายนอก เชื่อมต่อกันอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของโบราณสถานอีกด้วย
รูปแบบการสัญจรภายในเรียบง่ายแต่มีลูกเล่นที่การเล่นระดับ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำจนผู้เข้าชมงานเบื่อจนเกินไป และการให้ความสำคัญของตัวงาน โดยจะเจาะช่องแสงพอดีที่เตาทุเรียง เพื่อให้ได้รับแสงและอุณหภูมิที่พอเหมาะ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถรักษาสภาพของเตาได้ไม่ดีนัก เพราะเตาสัมผัสกับอากาศที่เข้ามากัดกร่อนอยู่ดี ยังมีความชื้นอยู่ แต่ด้วยช่องแสงที่เจาะจากหลังคามานั้น ทำให้ตัวงานดูเด่นขึ้นมาทันที และตัวหลังคาก็ได้มีลูกเล่นเป็นระดับเพื่อให้เป็นการระบายความร้อนด้วยอีกวิธีหนึ่ง





วัดเจดีย์เก้ายอด
ความประทับใจแรกที่ได้พบคือ เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นบนเขาและมีถนนตัดผ่านเป็นแนวโค้งทำให้ผู้ที่ขับรถผ่านไปมาได้ชมโบราณสถานแห่งนี้ได้โดยรอบด้าน และตัวผู้เขียนได้คิดสงสัยอีกว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีสถานที่ใช้สำหรับจอดพักรถให้ผู้เข้าชม แต่ตัวผู้เขียนกลับรู้สึกดีที่ไม่มีสถานที่ให้จอดรถ นั่นก็เพื่อไม่ให้มีคนเข้ามาในโบราณสถานมากจนเกินไป อาจจะกลายเป็นการเชื้อชวนให้เข้าไปทำลายโบราณสถานก็เป็นได้
ด้วยและตัวโบราณสถานก็เล่นระดับด้วยเช่นกันถูกยกให้สูงขึ้น ตามระดับของเชิงเขา และเชื่อมด้วยบันไดเป็นชั้นๆ ทำให้ดูยิ่งใหญ่มากขึ้น ส่วนด้านหลังของตัวโบราณสถานเป็นเชิงเขามีทางขึ้นสู่ด้านบนอีก ซึ่งเป็นโบราณสถานอีกที่หนึ่ง



วัดนางพญา
วัดนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้น ตัววิหารเป็นศิลาแลง มีลายสลักวิจิตรงดงาม หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา ส่วนผนังถูกเจาะเป็นช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมเช่นกัน



วัดเจดีย์เจ็ดแถว
เป็นวัดที่รวมรูปแบบต่างๆเอาไว้ด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างในสมัยนั้นมีลานกว้างขวางอยู่2ทาง และถูกล้อมรอบด้วยกำแพงเตี้ย แต่สัดส่วนกับตัวปรางค์ ยังดูไม่ขัดกันมากเกินไป




วัดช้างล้อม
ลักษณะที่เด่นที่เห็นได้ชัดของวัดนี้คือมีรูปปั้นช้างล้อมอยู่โดยรอบ เป็นเสมือนส่วนฐาน ทำให้ดูเหมือนมีช้างคอยปกป้องตัวปรางค์เอาไว้ ทำให้ฐานชั้น2ของตัวปรางค์มีขนาดใหญ่และสูงมาก ดูอลังการและยิ่งใหญ่มาก และด้านหน้าของตัวปรางค์มีลานขนาดใหญ่ ขนาบอยู่2ข้าง เพื่อให้ปรางค์ดูยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก



วัดสุวรรณคีรี
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ซึ่งกว่าจะขึ้นไปบนยอดได้นั้นต้องเดินขึ้นบันไดที่สูงชัน นับว่าเป้นความประทับใจแรกเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อได้ขึ้นไปบนยอดเขาและเห็นตัวโบราณสถานด้วยแล้วยิ่งประทับใจมากกว่า แม้ตัวโบราณสถานตั้งอยู่บนยอดเขา แต่มีต้นไม้ล้อมอยู่โดยรอบ เสียงและบรรยากาศที่ได้สัมผัสดูสงบกว่าวัดที่อยู่ด้านล่างเสียอีก มีเสียงสัตว์หลายชนิด ทำให้ตัวโบราณสถานและธรรมชาติโดยรอบดูกลืนกัน และด้วยตัวโครงสร้างที่สร้างเป็นชั้นๆให้เห็นเป็นขั้น เหมือนภูเขาด้วย เป็นเสมือนการล้อเข้ากับสภาพแวดล้อมอีกทางหนึ่ง และที่เป็นความประทับใจที่สุดของวัดสุวรรณคีรีอีกอย่างหนึ่งคือ การได้ขึ้นไปบนชั้นของปรางค์ และมองวิวทิวทัศน์ที่เกิดขึ้น



วัดเขาพนมเพลิง
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาอีกฝั่งหนึ่งของวัดสุวรรณคีรี สร้างคู่กัน แต่ด้านบนยอดมีพื้นที่เล็กกว่า จึงทำให้มีพื้นที่ของวัดอยู่จำกัด แต่สิ่งที่ประทับใจในวัดนี้เป็นบรรยากาศมากกว่าที่ได้เห็นฝูงนกและคูน้ำพร้อมทุ่งหญ้าเขียวที่อยู่ด้านล่างของวัดพอดี



กลับที่พักวันนี้พยายามหาร้านอาหารที่น่าสนใจและยุงไม่กัด เพราะวันนี้เดินผ่านทุ่งทั้งวัน จึงได้ร้านอาหารที่อยู่ด้านหลังโรงแรม สวย หรู จัดร้านน่าสนใจมี space กว้างขวาง ทางเข้าด้านหน้าเป็นกระจก ดู space ภายในและภายนอกเชื่อมต่อกันเป็นอย่างดี ที่สำคัญ ราคาไม่แพงมาก สรุปวันนี้เหนื่อยมากๆ และอาหารก็อิ่มอร่อยมากๆ คาดว่าคืนนี้คงจะได้หลับพักผ่อนเสียที่ และสุดท้ายเป็นไปเหมือนที่คาดเอาไว้ นั่นคือได้นอนเกือบสว่าง (อีกแล้ว) แถมวันนี้มีเพื่อนที่น่ารักคือ เต้ เตชัส มานอนด้วย เพิ่มจำนวนห้องจากเดิม 5 คนเป็น 6 คน ขึ้นมาทันที บนเตียงที่มีความจุเท่าเดิมคือ3คนครึ่ง และที่สำคัญกว่านั้น มันกรนดังมากด้วย ขอบคุณเต้มากๆ

ทริปวันที่6

วันที่ 29 กรกฎาคม 2553
DAY 6 ฟ้าครึ้มเหมือนฝนจะตกอยู่ตลอดเวลา แต่มีแดดอ่อนๆปนมา ทำให้วันนี้ไม่ร้อนมาก แต่ช่วงบ่ายฝนตกหนัก


วันนี้ก็เป็นอีกวันที่ต้องรีบตื่นเช้า(ทั้งๆที่นอนเกือบเช้าอีกแล้ว) เพราะต้องไปซื้ออาหารกลางวันกันเอง เหมือนเสร็จสิ้นภารกิจยามเช้า พอถึงรถก็หลับทันที เพราะล้ามาหลายวันแล้ว
หลังจากนั้นก็ตื่นมาสู่เมืองลับแล พร้อมกับความตกใจว่าขามาเราหลับไปแล้วขากลับเราจะกลับถูกหรือไม่กันเนี่ย นี่มันเมืองลับแลนะ


เมืองลับแล จ. อุตรดิตถ์
รูปแบบบ้านก็ยังเป็นไม้อยู่เช่นเดิมแต่ใต้ถุนบ้านบางหลังไม่ยกสูงเหมือนแบบเดิม ยังคงมีการปลูกพืชที่สามารถทานได้อยู่ตามอาณาบริเวณเหมือนเดิม และมีการเลี้ยงสัตว์เอาไว้ด้วย บางพื้นที่ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ก็มีการผสมผสานนำเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้าไปแทรกด้วยหรือประยุกต์ให้รวมกันบ้าง อย่างไม่เป็นระเบียบ ซึ่งบางอย่างดูลงตัวแต่บางอย่างดูไม่เข้ากันมาก





วัดดอนสัก
วัดเก่าแก่โบราณที่มีจุดเด่นอยู่ที่อาคารกิจกรรมซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ โครงสร้างไม้ ผสมกับปูนสมัยใหม่ แต่สแปนเสาพาดช่วงกว้างกว่า6เมตรเป็นอย่างน้อยและช่วงด้านข้างของอาคารเป็นออกเป็นช่องเปิดกว้าง เพื่อให้เกิดทัศนะวิสัยที่ด้านข้าง เหมือนเป็นการบีบบังคับให้ผู้ที่ใช้งานspace ภายในได้เน้นความสนใจไปทางวิวทิวทัศน์ภายนอกมากกว่า นอกจากนี้ยังมีหอระฆังเก่าแก่ ที่ตั้งสูงเด่นอยู่ถัดจากอาคารขนาดใหญ่นี้
ด้านหลังของอาคารเป็นโบสถ์เก่าแก่ ซึ่งมีลายสลักไม้ที่ประตูทุกๆบาน เสาโครงสร้างภายในเป็นปูนทรง 8 เหลี่ยม ซึ่งประตูไม้เคยถูกขโมยจากที่นี่ไป และสามารถนำกลับมาจนได้ ลวดลายบนประตูแกะสลักด้วยลายไม้วิจิตรงดงาม สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งสองฝั่งลวดลายไม่เหมือนกัน แต่เมื่อบานประตูปิดลง กลับดูไม่ขัดกันเลยแม้แต่น้อย





สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
อาคารในละแวกนี้ มีการเล่นลวดลายของเส้นในแนวแกนต่างๆสลับกันไปมา ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบ้าน แต่การจัดวางยังคงอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน แต่มีเส้นทางเดินเชื่อมกันไปตลอดจนถึงด้านใน เหตุผลที่ทำให้หมู่บ้านนี้มีชื่อว่าเมืองลับแล นั่นเป็นเพราะในสมัยอดีตเส้นทางยังไม่ชัดเจนเท่าปัจจุบันจึงทำให้เกิดการหลงทางอยู่บ่อยครั้งและออกจากหมู่บ้านไม่ได้ในที่สุด แต่ปัจจุบันตัวหมู่บ้านได้เปลี่ยนไปแล้ว มีถนนตัดผ่านมากมาย ส่วนตัวหมู่บ้านเอง มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เริ่มมีการนำวัสดุสมัยใหม่เข้ามาใช้ด้วย เช่นปูน กระเบื้อง สังกะสี เพราะคงทนกว่าไม้





จบวันนี้เหนื่อยกว่าทุกทีเพราะฝนตกลงมาด้วย การเดินทางเริ่มทำให้ทุกๆคนอ่อนล้าลงไปมากทุกทีวันนี้นี่แหละ เลยคาดหวังเอาไว้ว่าหลังทานข้าวแล้วเราจะพักผ่อนอย่างเต็มที่ให้ได้เพื่อเช้าวันสดใส สรุปพอตกดึก ก็แบบเดิมอีกแล้ว แต่ก็สนุกดีครับชอบๆ

ทริปวันที่5

วันที่ 28 กรกฎาคม 2553
DAY 5 ในจังหวัดใหม่ ฟ้าครึ้มทั้งวัน แดดมีแต่น้อย และช่วงบ่ายมีฝนตกลงมาประปรายตลอด


เช้าวันใหม่ กับจังหวัดใหม่ กับอาการง่วงเหมือนเดิม แต่รู้สึกว่าล้อเริ่มหมุนช้ากว่าเดิมด้วย จากที่เคยเป็น8โมงเช้า ตอนนี้เริ่มเป็น9โมงแล้ว แต่ดีแล้วที่ช้าลง จึงทำให้มีเวลาไปซื้อข้าวเช้าทานและข้าวเที่ยงสำหรับทานนอกสถานที่ด้วย

วัดมหาธาตุ
เป็นวัดที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุโขทัย มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงยอดดอกบัวตูม, วิหาร, มณฑป, อุโบสถ และเจดีย์รายมีจำนวนมากถึง200 องค์ เอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย แสดงออกมาจากเจดีย์ประธานทรงยอดดอกบัวตูม แต่ก็ยังมีศิลปะแบบล้านนาให้เห็นผสมกันอยู่คือ เจดีย์ที่อยู่ประจำมุมแต่ละมุม ซึ่งเป็นเจดีย์5 ยอดที่เป็นศิลปะแบบล้านนา





วัดพระพายหลวง
สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบที่มีมานานก่อนยุคสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี กลุ่มเจดีย์ในวัดมีสภาพทรุดโทรมมากเกินไป จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาที่มาได้อย่างแน่ชัด อาจได้อิทธิพลมาจากงานของขอม เนื่องจากชุมชนบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนขอมมาก่อน



วัดศรีชุม
รูปแบบวัดมีลานกว้างด้านด้านหน้าและมีถนนทอดยาวไปสู่ตัววัดเป็นเส้นนำสายตาให้เข้าสู่ภายในได้เป็นอย่างดี แต่ภายในวัดมีกำแพงใหญ่กั้นขวางตัวพระพุทธรูปอยู่ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณด้านหน้าเคยเป็นวิหารขนาดใหญ่มาก่อน มีทางเดินสลับซับซ้อนเพื่อเดินขึ้นไปหลังบริเวณพระพุทธรูปแต่ปัจจุบันได้ปิดไปแล้วเพื่อการทะนุบำรุงรักษาพระพุทธรูปให้คงไว้
บริเวณลานภายนอกมีต้นมะม่วงที่มีอายุมากกว่า100ปีอยู่ด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ควบคู่กับงานสถาปัตยกรรมไปแล้ว




วัดศรีสวาย
รูปแบบของโบราณสถานเป็นแบบลพบุรี แต่ได้รับอิทธิพลจากขอมมาอยู่บ้าง ลักษณะของปรางค์จะเพรียวกว่าและตั้งอยู่บนฐานเตี้ย มีลวดลายบางส่วนที่ดูเหมือนถ้วยจีนสมัยก่อน ด้านหน้าองค์ปรางค์มีวิหาร2หลังเชื่อมต่อกัน แล้วมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ และมีการเจาะช่องแสงเป็นแนวตั้งรอบๆตัววิหารเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของspace ภายในและภายนอก ด้วยรูปแบบดังกล่าวจึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นวัดที่มาจากศาสนาพราหมณ์ จากนั้นจึงนำมาแปลงเป็นพระพุทธศาสนาในภายหลัง




สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
บ้านท้องถิ่นส่วนใหญ่จะมีการปลูกพืชที่ทานได้หรือสามารถใช้ประโยชน์ได้เอาไว้เสมอๆอาจเป็นในสวนหลังบ้าน สวนหน้าบ้าน หรือปลูกเป็นแนวกำแพงรั้วกั้นขอบเขตบ้าน(กำแพงมีชีวิต) เพื่อให้ผู้คนที่เดินมาสามารถเก็บไปใช้ต่อได้ด้วยเช่นกัน ยังเป็นการสานสัมพันธ์ของคนสมัยก่อนด้วยอีกทางหนึ่ง



กลับมาสู่ที่พัก อีกส่วนที่ชอบที่สุดในทริปนี้คือการตามหาร้านอร่อยในจังหวัด ซึ่งวันนี้ก็เป็นอีกวันที่ไม่ทำให้ผิดหวังเลย และเมื่อท้องอิ่มแล้ว ตกดึกก็เป็นกิจกรรมแบบเดิมๆผู้คนเข้ามาลงรูปในห้องมากมายเหมือนเดิม บ้างก็อยู่ยาว บ้างก็เล่นเกมกันต่อ สุดท้ายห้องก็กลายมาเป็นcomplex อีกจนได้ ทำให้ช่วงเวลาที่จะได้หลับพักผ่อนก็หายไป แต่จะบ่นมากก็ไม่ได้เพราะ ตัวผู้เขียนเองก็อยู่ร่วมกิจกรรมจนครบทุกอย่างเลย

ทริปวันที่4

วันที่ 27 กรกฎาคม 2553
DAY 4 วันนี้ฟ้าโปร่ง เมฆน้อย แดดแรงพอสมควร ตอนเย็นเลยมีฝนตกมาบางช่วง


เช้าวันนี้เป็นเช้าวันสุดท้ายที่จะได้อยู่ที่ลำปาง แต่การมาทริปภาคเหนือครั้งนี้ ถ้าไม่ได้มาลิ้มลองอาหารเหนือสักครั้งก็จะดูน่าเกลียดกระไรอยู่ จึงได้ฝืนอดทนตื่นเช้าเพื่อได้ลิ้มลองรสชาติของ “ข้าวซอย” ในภาคเหนือบ้างเป็นอาหารเช้า และก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังเลย คุ้มค่าแก่การตื่นเช้าจริงๆ

วัดปงสนุก
เป็นวัดที่มีความเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง มีข้อสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอนันตยศเสด็จมาสร้างเมืองเขลางค์นคร เมื่อพศ.1223 ซึ่งวัดนี้มีชื่อเรียกอยู่4ชื่อ แต่ที่ปรากฏอยู่บ่อยๆคือวัดพะยาว และ วัดปงสนุก วัดนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองลำปางคือ เป็นสถานที่ดำน้ำชิงเมืองบริเวณหน้าวัดของเจ้าฟ้าชายแก้ว(โอรสของพ่อเจ้าทิพย์ช้าง)และเจ้าลิ้นก่าน และเคยเป็นวัดสะดือเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ฝังเสาหลักเมือง หลักแรกเมื่อพ.ศ.2400 ซึ่งต่อมาถูกนำมาฝังที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน
ตัววัดถูกยกระดับให้สูงกว่าระดับทั่วไป ถูกสร้างอยู่บนเนินดิน ซึ่งมีความสูงมากพอสมควร ทำให้ดูยิ่งใหญ่และอลังการ และสามารถมองวิวของเมืองได้อย่างทั่วถึงโดยไม่มีบ้านเรือนมาบทบัง และเมื่อขึ้นไปบนตัววัดจะเห็นลานกว้างที่เป็นลานทรายซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัด แต่ภายในโบสถ์มีการตกแต่งใหม่ซึ่งทำให้เหลือเค้าโครงเดิมอยู่น้อยและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยอยู่เยอะเช่นเครื่องเสี่ยงเสียมซีอัตโนมัติและเครื่องทำบุญตามวันเกิด ซึ่งทำให้ตัววัดดูขาดความสงบลงไป





วัดศรีรองเมือง
เป็นวัดที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ในบางรายละเอียดมีอิทธิพลมาจากยุโรป เช่น น้ำพุปูนปั้นที่อยู่บริเวณด้านหน้าของตัววัด ภายในวัดถูกประดับตกแต่งด้วยกระจกหลากสี ที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบพม่า ตั้งแต่ตัวเสาไปจนถึงผนังก็จะถูกประดับด้วยกระจกเช่นกัน ส่วนตัวหลังคาวัดเป็นสังกะสีเมทัลชีท แสดงให้เห็นถึงการนำเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับวัด




สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
บ้านเรือนในวันนี้ที่ได้ศึกษาจะเป็นบ้านที่มีความเก่าอยู่พอตัว แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยพื้นถิ่นมากยิ่งขึ้น ไม่ได้รับอิทธิพลการสร้างบ้านจากทางตะวันตกมามากเหมือนหลังก่อนๆ แต่บางหลังเริ่มที่จะมีการรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆเข้ามาแล้ว เนื่องจากการซ่อมแซมเช่น ทำเสาปูน คสล.ขึ้นเพื่อความแข็งแรง เปลี่ยนหลังคาให้เป็นสังกะสี เนื่องจากดีกว่าวัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติ ด้านหลังบ้านจะมีคูน้ำที่ใช้ร่วมกันอีกหลายหมู่บ้านซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน



หมดอีกหนึ่งวัน เมื่อกลับมาถึงที่พัก เป็นที่พักใหม่ในจังหวัดใหม่จึงได้ตระเวนหาร้านอาหารอร่อยๆทาน และก็เหมือนเคยไม่ผิดหวังเลยจริงๆ หรือไม่รู้ว่าเป็นเพราะหิวกันแน่ แต่เมื่อได้เข้าไปพักในห้องพัก แอบตกใจเล็กน้อย ห้องเล็กกว่าที่ลำปางเสียอีก แล้วเราจะนอนได้อย่างไร ว่าแล้วก็เลย สังสรรค์กันต่อ นอนเกือบเช้าอีกแล้ว แถมนึกว่าจะมีสมาชิกร่วมห้อง 4 คนเสียอีก กลับมีเพิ่มมาอีก1 คนมาร่วมกันแย่งที่นอนไป แต่ก็สนุกดีนะ ขอบคุณมากไอซ์