วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อีกหนึ่งสายสัมพันธ์...บนรวงผึ้ง




“สวัสดีครับ นั่นพี่จอยใช่ไหมครับ นี่น้องหยก น้องรหัสพี่เอง ที่คุยกันใน MSN สรุปวันพรุ่งนี้ผมไปหาพี่ว่างใช่ไหมครับ? อ่า... โอเคได้ครับ..... ครับผม...ฝากขอบคุณเพื่อนพี่ด้วยครับ” นี่คือบทสนทนาทางโทรศัพท์ หลังจากที่ผมได้ตามหารุ่นพี่ลาดกระบังหลายๆรุ่นจากการไล่สายรหัส35# ขึ้นไป จนมาจบที่พี่จอยที่ห่างกับผม 9 ปี แต่ตามกำหนดการผมต้องตามหารุ่นพี่ที่ห่างกับผมสิริรวมด้วยกัน 10 ปีถ้วน ! ซึ่งพี่จอยได้แนะนำรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง ที่พี่จอยสนิทมากๆ เชิญมาเป็นแขกให้ผมสัมภาษณ์โดยเฉพาะ นั่นเป็นที่มาที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่โน้ตครับ

สถานที่นัดพบคือบ้านของพี่จอยนั่นเอง และเป็นออฟฟิศด้วยในตัว ภายนอกตกแต่งสไตล์โมเดิร์นนิดๆ แต่ดูแล้วไม่ตกยุค ส่วนภายในบ้านแม้ว่าพื้นที่มีจำกัดแต่ก็สามารถออกแบบให้ใช้งานได้ครบทุกอย่าง ชั้นบนเป็นโฮม ออฟฟิศ ใช้เป็นสถานที่ทำงาน มีสมาชิกประมาณ 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ลาดกระบัง ผู้ที่ออกแบบบ้านหลังนี้คือ พี่ภพ สามีและเพื่อนร่วมรุ่นพี่จอยนั่นเอง พี่จอยบอกว่า “ทุกๆทีก็นัดเจอกันตลอดอยู่แล้ว มาสังสรรค์บ้างเป็นปรกติ ได้เจอไอ้โน้ตบ่อยอยู่แล้ว ไม่ต้องเกรงใจ แต่หลังจากคลอดลูกมาพี่ก็ไม่ค่อยได้เจอมันอีกเลย” พี่จอยช่วงนี้ยุ่งมากๆเพราะมีเจ้าตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียงแค่4เดือนเอง จากบ้านและโฮมออฟฟิศ ก็ได้กลายเป็นสถานที่เลี้ยงเด็กอีกด้วย ผมชอบที่นั่นจริงๆครับ “ArakStudio” พัฒนาการซอย 50 หมู่บ้านเคหะนคร3 (ชอบเป็นการส่วนตัว จึงไม่คิดค่าโฆษณา)

นั่งคุยกับพี่จอยสักพัก พร้อมกับทานอาหารเย็นไปพลาง รอพี่โน้ตมาที่บ้าน แต่ระหว่างนั่นก็ได้เจอรุ่นพี่มากมายทั้งจากลาดกระบังและสถาบันอื่น นั่นเพราะพี่จอยได้ชวนเพื่อนๆสมัยเรียนมัธยมมาด้วย ซึ่งสืบไปมาได้รู้ว่า พี่จอยกับพี่โน๊ตเป็นเพื่อนเรียนโรงเรียนเดียวกันห้องเดียวกัน แต่พี่โน้ตสอบเทียบ จึงเข้ามาเรียนก่อน ทำให้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พี่เค้าพอดี และรร.ที่ว่านี่ก็คือ เตรียมพัฒน์ ที่อยู่แถวๆบ้านพี่จอยนี่เอง โอ้วววววว.... นอกจากจะเป็นพี่รหัสผมแล้วยังเป็นพี่โรงเรียนผมอีกด้วย ช่างบังเอิญอะไรเช่นนี้ เมื่อบทสนาถูกขัดด้วยเสียงกริ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล นั่นคือรุ่นพี่โรงเรียนอีกที่ผมกำลังรออยู่ พี่โน้ตนั่นเอง

“อ่อ รุ่นนี้ใช่ไหม ที่พกฝิ่นเข้าห้องสอบ “ นี่คือบทสนทนาแรกของผมกับพี่โน้ตครับ (ข่าวไปไวมาก)
“สัมภาษณ์เลยก็ได้นะ ระหว่างที่กินข้าวนี้แหละ พี่ไม่ถือ” เมื่อพี่เขาไม่ว่าอะไรผมจึงยิงคำถามไปก่อนทีละนัด


ขอ ชื่อและนามสกุลกับประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานครับ

ชื่อ ชยานันท์ ชลายนานนท์ จบปริญญาตรี สจล.รหัส 09 ทำงานอยู่ที่บริษัท RDG (Retail Design Group) ตำแหน่ง Senier Architect งานที่ทำก็เป็นงานเกี่ยวกับงานออกแบบ retail ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งถ้านับช่วงเวลาฝึกงานด้วยแล้ว พี่โน้ตทำงานกับบริษัทนี้มาเกือบ10แล้วครับ งานของพี่เขาคือต้องคอยดูแลงานทั้งหมด co กับเจ้าของ และฝ่ายdetail เขียนแบบ และก่อสร้าง รวมไปถึงวาง planning ของงานด้วย เหมือนทำbubble design นั่นเอง

ตัวอย่างงานที่ทำ
- All Season
- BMGL (ห้างในรถไฟใต้ดิน)
- Office Lobby
- Paragon (ดูเรื่องconcept Planning)
- Digital Gateway
งานที่พี่โน้ตกำลังทำอยู่- Terminal 21
- Eakamai Gateway





ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน - เนื่องจากว่าการทำห้างมันใช้เวลานาน และตัวร้านค้าจำเป็นต้องดึงดูดคนอยู่เสมอ ฉะนั้น ต้องตามเทรนด์ให้ทัน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เทรนด์ก็เปลี่ยน ลูกค้าก็อยากให้เปลี่ยน เพราะกลัวตกเทรนด์ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงเยอะ ทำให้คนในฝ่ายอื่นๆเริ่มเหนื่อย
- เกิดปัญหาทะเลาะกันบ้างกับฝ่ายอื่นๆ เพราะลูกค้าไม่แน่นอน

วิธีแก้ไข
ปรับความเข้าใจ การสื่อสารต้องดี และคุยกันให้รู้เรื่อง เท่านี้ก็สามารถทำงานกันต่อได้
แนวคิดในการทำงานของพี่โน้ต
ดูผู้หลักผู้ใหญ่ว่าเขาทำงานกันยังไง ดูเจ้านาย ดูผู้มีประสบการณ์ เพราะเขาอาบน้ำร้อนมาก่อน บางปัญหาจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์มากกว่าทฤษฎี ดูหนังสือเยอะๆ แต่ก็ไม่ใช่ Copy แค่เอามาเป็นแนวความคิด แต่ไม่ใช่ว่าไปลอกเขามาเลย ต้องมีเหตุผลเสมอว่าเราทำไมถึงออกแบบได้แบบนี้ คำว่า”ชอบ”อย่างเดียวก็ไม่ได้ เอามาใช้ในชีวิตจริงก็ไม่ได้ ลูกค้าเราคงไม่พอใจถ้าหากเราตอบไปว่า ผมชอบแบบนี้ จึงออกแบบมาเป็นแบบนี้


พี่โน้ตคิดอย่างไรกับจรรยาบรรณวิชาชีพ
อุ้ย...ยากเลย ! (คำแรกที่พี่เขาอุทานครับ) เราต้องทำตามจรรยาบรรณแม้ว่าจะลำบากแค่ไหน ตามกฎ ตามกติกาและก็ตามคำแนะนำที่ได้มา



บทสนทนาทั้ง4ข้อหลัก ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ถ้ารวมเวลาคุยทั้งหมดของผมกับพี่โน๊ตก็เกือบ2ชั่วโมงเห็นจะได้ ทำให้ได้รู้ว่าพี่โน้ตเป็นคนที่เก่งมากๆคนหนึ่ง และ เป็นคนที่คุยสนุกมากๆด้วย สุดท้ายก็ขอขอบคุณพี่โน้ต(อีกครั้ง) ที่ได้ให้ความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางอีกทาง ที่พี่ได้เจอในการทำงานครับ และก็ขอบคุณสำหรับคำแนะนำว่าเบียร์ลีโอที่ผลิตจากโรงงานขอนแก่น อร่อยที่สุด (คราวหน้าผมจะลองดู) และขอบคุณพี่จอยที่ให้ผมได้เจอกับพี่โน้ต ขอบคุณที่เอื้อเฟื้อสถานที่ ครับ ได้เห็นงานพี่จอยแล้ว ทำให้ผมตกใจอยู่ไม่น้อย ทำให้ผมอยากสัมภาษณ์พี่จอยด้วยอีกคนเลย และขอบคุณมากๆเลยครับ สำหรับอาหารเย็น แล้วสุดท้ายก็ขอบคุณอาจารย์ไก่ครับ ที่ทำได้มอบหมายงานชิ้นนี้ให้กับผม ซึ่งทำให้ผมได้เจอกับพี่ๆทั้งสองคน




หมายเหตุ มีอีกหลายบทสนทนาที่ได้คุยกับพี่โน๊ต แต่ไม่สามารถเอามาลงได้ครับ ขอเก็บเอาไว้ดีกว่าครับ ฮาๆๆ

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี


รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี


ส่วนที่ 1

ชีวะประวัติเบื้องต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ เป็นชาวจังหวัดสงขลา เป็นสถาปนิกและศิลปินอาวุโสดีเด่น เป็นที่ยอมรับในด้านสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งในปัจจุบันมีสถาปนิกในด้านนี้น้อยมาก เป็นบุตรของ นายซ้อน – นางรื่น สุวรรณคีรี สมรสกับ นางลาวัณย์ สุวรรณคีรี มีธิดา ๓ คน ได้แก่ นางสาวดลฤดี สุวรรณคีรี, นางสาวปิยนุช สุวรรณคีรี และนางสาวพุทธชาติ สุวรรณคีรี

ท่านเป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในจำนวนสถาปนิกไม่กี่คนในด้านนี้ที่ได้ศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมและสถาปัตยศิลป์แบบไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ได้ศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมและวิชาสถาปัตยศิลป์แบบประเพณีและแบบใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้นำเอาวิชาการแบบใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรมและวิชาสถาปัตยศิลป์แบบไทยในปัจจุบันได้เป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรีได้อุทิศตนให้กับงานสถาปัตยกรรมและวิชาสถาปัตยศิลป์เพื่อส่วนรวมมาเป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี รับใช้ศาสนาและสังคมด้วยผลงานศิลปกรรม มีผลงานจำนวนมากทั้งในพระราชอาณาจักรและในต่างประเทศ โครงการสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคือ วัดไทยกุสินารามหาวิหาร ประเทศอินเดีย วัดไทยที่ลุมพินี ประเทศเนปาล เป็นสถาปนิกและศิลปินที่อุทิศตนให้กับส่วนรวมในด้านสถาปัตยกรรมและวิชาสถาปัตยศิลป์ เป็นผู้อนุรักษ์สร้างสรรค์ และถ่ายทอดวิชาการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นบุคคลที่มีคุณค่านับอเนกอนันต์ของประเทศ เป็นคนดีมีวิชาที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่งในผลงานและการทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นหลัง เป็นศิลปินที่มีคุณธรรมและจริยธรรมทั้งในชีวิตและผลงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๗

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี มีความสนใจงานด้านสถาปัตยกรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก ๆ ในขณะที่มีอายุ ๘ ขวบ พระครุปทุมธรรมธารี วัดสามบ่อ จังหวัดสงขลา ได้นำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เนื่องจากพระครูปทุมธรรมธารี มีความสามารถพิเศษ คือ เป็นช่างลาย เมื่อมีงานที่วัด ท่านพระครูฯ ก็จะลงมือเขียนลวดลายต่าง ๆ ด้วยตัวท่านเอง และเมื่อ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เกิดความสนใจและช่วยเป็นลูกมือ ท่านพระครูฯ จึงได้สอนการเขียนลายต่าง ๆ ให้ พระครูปทุมธรรมธารี นอกจากจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเขียนลายแล้ว ท่านยังมีความเชี่ยวชาญในการแกะลายฉลุไม้ ซึ่งใช้ประดับหน้าบันวัด กุฏิ โรงเรียน เป็นต้น ทำให้ท่านมีลูกศิษย์ที่เป็นช่างเป็นจำนวนมาก และในทุก ๆ วันพระบรรดาช่างทั้งหลายจะมาแลกเปลี่ยนวิชาความรู้กันและช่วยท่านพระครูฯ ทำงานต่าง ๆ และเมื่อช่างเหล่านั้นเห็นถึงความสนใจและตั้งใจของ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี จึงช่วยกันถ่ายทอดงานช่างต่าง ๆ ให้ เช่น การแกะรูปหนังตะลุง ลายประดับอาคาร ลายประดับเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องลวดลายต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก

ประวัติทางการศึกษา
• พ.ศ. 2488 ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนวัดสามบ่อ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และเริ่มเรียนลายไทยจากพระครูปทุมธรรมธารี เจ้าคณะอำเภอระโนด และจากช่างพื้นบ้าน
• พ.ศ. 2495 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
• พ.ศ. 2498 สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษา ชั้นปีที่ ๑ จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี
• พ.ศ. 2499 สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษา ชั้นปีที่ ๒ จากโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง กรุงเทพฯ
• พ.ศ. 2507 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. 2515 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (สถ.ม.) แผนกสถาปัตยกรรม ณ มหาวิทยาลัยเพ็นซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพ็นซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา


ประวัติการทำงาน
• พ.ศ. 2505 ครูสอนวิชาวาดเขียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท ในขณะที่เป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. 2508-ปัจจุบัน อาจารย์ สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. 2515-ปัจจุบัน อาจารย์พิเศษสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
• พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม]] คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. 2528-ปัจจุบัน อาจารย์พิเศษสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
• พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน อาจารย์พิเศษสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัชสัมชัญ
• พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


รางวัลเกียรติยศ
จากการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมไทยจนเป็นที่ยอมรับ ทำให้ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ คนดีศรีมหาวชิราวุธ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาปนิกดีเด่น บุคคลตัวอย่างด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมไทย สถาปนิกผู้มีผลงานดีเด่นด้านการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมไทย ประเภทกิจกรรมและโครงการดีเด่น สถาปนิกผู้มีผลงานดีเด่น ด้านการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ และสืบทอดผลงานสถาปัตยกรรมไทย การยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม (สถาปัตยกรรมไทย) ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ดม.ศ.) รางวัลนิคเคอิเอเชีย ไพรซ์ สาขาศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆอีกมากมาย
อาจารย์ภิญโญได้รับเชิดชูเกียรติจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศาสตราภิชาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 - 30 กันยายน 2554 ในสาขาสถาปัตยกรรม
• 2531: โล่เชิดชูเกียรติผู้บำเพ็ญประโยชน์ มูลนิธิมหาวชิราวุธ
• 2531: ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
• 2536: บุคคลตัวอย่างด้านอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมไทย สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
• 2536: ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
• 2537: พระราชทานกิตติบัตร สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
• 2537: รางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
• 2538: พระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ
• 2539: สถาปนิกผู้มีผลงานดีเด่นด้านการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทย คณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทย
• 2540: โล่เชิดชูเกียรติคนดีศรีมหาวชิราวุธ สมาคมนักเรียนเก่ามหาวชิราวุธ
• 2540: สถาปนิกดีเด่นด้านการอนุรักษ์ สร้างสรรค์และสืบทอดผลงานสถาปัตยกรรมไทย คณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทย
• 2540: บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม คณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
• 2543: รางวัลนิคเคอิ เอเชียไพรซ์ (สาขาศิลปวัฒนธรรม)(เข้ารับมอบรางวัล เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๓ ณ ประเทศญี่ปุ่น)
• 2544: รางวัลเอเซียแปซิฟิก (สาขาศิลปวัฒนธรรม)(ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก)
• 2544: ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
• 2545: ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• 2546: ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
• 2549: เพชรสยาม มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม


เครื่องราชอิสริยาภรณ์
• เหรียญดุษฎีมาลา (เข็มศิลปวิทยา)
• เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 (จตุตถดิเรกคุณาภรณ์)
• ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
• ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)


ผลงานออกแบบ
• พ.ศ. ๒๕๐๙ ออกแบบอาคารประถมพุทธศาสตร์ จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๑๑ ออกแบบอาคารห้องสมุดวิจารณ์ธรรม จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๑๒
o ออกแบบอาคารมัธยมพุทธศาสตร์ จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
o ออกแบบตำหนักสมเด็จ จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๑๓ ออกแบบพระอุโบสถ วัดเขาช่องพราน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
• พ.ศ. ๒๕๑๔ ออกแบบฉากนาฏศิลป์ไทย ตอนนารายณ์ปราบนนทุก เพื่อเผยแพร่ศิลปะและนาฏศิลป์ไทยในงาน Thailand Night ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพ็นซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
• พ.ศ. ๒๕๑๖ ออกแบบหอพระพุทธรูปพนัสบดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๑๗ ออกแบบพระอุโบสถวัดอรัญญิกาวาส จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๑๘
o ออกแบบพระอุโบสถวัดไทยนิยม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
o ออกแบบตกแต่งพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จังหวัดสกลนคร
• พ.ศ. ๒๕๑๙ ออกแบบพระมหาเจดีย์วัดเกตุมวดี จังหวัดสมุทรสาคร
• พ.ศ. ๒๕๒๐ ออกแบบพระมหาเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ วัดธรรมมงคล พระโขนง กรุงเทพฯ
• พ.ศ. ๒๕๒๑
o ออกแบบศาลาไทย และกำแพงแก้ว วัดเขาช่องพราน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
o ออกแบบศาลาการเปรียญ วัดโพธิ์บางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
o ออกแบบตกแต่งพระอุโบสถวัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่
• พ.ศ. ๒๕๒๒ ออกแบบตกแต่งพิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร
• พ.ศ. ๒๕๒๓ ออกแบบอาคารอนุสรณ์ตระกูลเจียรวนนท์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๒๔
o ควบคุมการปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพฯ
o ควบคุมการปฏิสังขรณ์ ตำหนักสมเด็จฯ วัดราชประดิษฐ์
• พ.ศ. ๒๕๒๕ ออกแบบพระมหาเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ วัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
• พ.ศ. ๒๕๒๖ ออกแบบศาลพระลักษมีเทวี ธนาคารกรุงเทพ สีลม กรุงเทพฯ
• พ.ศ. ๒๕๒๗
o ออกแบบเมรุพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี
o ออกแบบพลับพลาที่ประทับในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๒ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
o ออกแบบพระอุโบสถวัดคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
o ออกแบบหอระฆัง วัดคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
• พ.ศ. ๒๕๒๘
o ออกแบบพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี
o ออกแบบเมรุพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย
o ออกแบบพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าศรีสุริโยทัย จังหวัดสระบุรี
• พ.ศ. ๒๕๒๙
o ออกแบบหอพระพุทธรูปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต
o ออกแบบศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดพะเยา
o ออกแบบประตูชัยขุนเจืองธรรมิกราช กองพลที่ ๑๗ จังหวัดพะเยา
o ออกแบบวิหารพระพุทธรูปวัดอนาลโย จังหวัดพะเยา
o ออกแบบพระพุทธรูปนาคปรกสูง ๖๐ เมตร อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
o ออกแบบพระอุโบสถมูลนิธิธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดสมุทรสงคราม
o ออกแบบประตูชัยกองทัพภาพที่ ๓ จังหวัดพิษณุโลก
o ออกแบบเมรุพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่
• พ.ศ. ๒๕๓๐
o ออกแบบพระอุโบสถวัดคลองมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม
o ออกแบบศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดกระบี่
o ออกแบบพิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร ท่านอาจารย์วัน อุตตโม วัดถ้ำอภัย จังหวัดอุดรธานี
• พ.ศ. ๒๕๓๑
o ออกแบบสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดสงขลา
o ออกแบบอาคารพุ่มข้าวบิณฑ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธราช
o ออกแบบศาลาไทย ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์
o ออกแบบศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ
o ออกแบบโรงเรียนปริยัติธรรม วัดโพธิ์บางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
o ออกแบบหอพระศิวเทพ ถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี กรุงเทพฯ
o ออกแบบหอพระภาณุรังษี วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จังหวัดราชบุรี
o ออกแบบพระบรมราชานุสรณ์ ๒ รัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
o ออกแบบศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (เรือนไทยหมู่) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. ๒๕๓๒
o ออกแบบหอฉัน วัดสทิงพระ จังหวัดสงขลา
o ออกแบบซ่อมแซมพระอุโบสถจังหวัดสทิงพระ จังหวัดสงขลา
o ออกแบบพระอุโบสถวัดเขาไชยสน จังหวัดพัทลุง
o ออกแบบหอพระพุทธสีหภูมิบาล วิทยาลัยปกครอง กระทรวงมหาดไทย จังหวัดปทุมธานี
• พ.ศ. ๒๕๓๓
o ออกแบบวิหารหลวงพ่อสด วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จังหวัดราชบุรี
o ออกแบบสำนักแม่ชี เรือนไทยหมู่ เสถียรธรรมสถาน ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ
o ออกแบบเรือนไทยหมู่ภาณุวัฒน์ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
• พ.ศ. ๒๕๓๔
o ออกแบบศาลารายวัดศิริพงษ์ ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ
o ออกแบบฟาร์มจระเข้ บริษัทฟาร์มจระเข้พัทยา จังหวัดชลบุรี
o ออกแบบศาลาการเปรียญ วัดหนองโดน จังหวัดสระบุรี
o ออกแบบหอพระพุทธพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
• พ.ศ. ๒๕๓๕
o ออกแบบศาลพระทักษะเทวาธิราช
o ออกแบบศาลาพระราชกรณียกิจ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ
o ออกแบบพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๔ อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
o ออกแบบหอพระพุทธรูปโรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี
o ออกแบบศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพฯ
• พ.ศ. ๒๕๓๖
o ออกแบบพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารท่านอาจารย์บุญ จังหวัดสกลนคร
o ออกแบบพระอุโบสถวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
o ออกแบบเรือนไทยหมู่มูลนิธิขจรประศาสน์ จังหวัดนนทบุรี
o ออกแบบพระอุโบสถวัดป่ามัชฌิมาวาส จังหวัดกาฬสินธุ์
o ออกแบบศาลพระพรหม ธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
o ออกแบบศาลาธรรมแผ่นดินทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
o ออกแบบเมรุวัดเขาช่องพราน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชุบรี
o ออกแบบเมรุวัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
o ออกแบบหอพระพุทธรูป โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
• พ.ศ. ๒๕๓๗
o ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมด้านการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
o ออกแบบศาลพระศิวะและพระแม่อุมา โครงการพงษ์ศิริชัยคอมเพล็กซ์ ตำบลอ้อมน้อย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
o ออกแบบศาลหลักเมืองอุดร จังหวัดอุดรธานี
o ออกแบบพระอุโบสถวัดสิรินทรมหาวิหาร อำเภออ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม
o ออกแบบเมรุถาวรวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม
o ออกแบบพระพุทธรูปใหญ่ ประจำวัดโคกมน ของหลวงปู่ชอบ จังหวัดเลย
o ออกแบบวิหารพระพุทธรูป “พระพุทธเทวประชานาถบพิตร” วัดทรงธรรม อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
• พ.ศ. ๒๕๓๘
o ออกแบบพระอุโบสถ วัดไทยกุสินารามหาวิหาร ประเทศอินเดีย
o ออกแบบหอพระพุทธรูป “สมเด็จมหาราชทรงครุฑ ภปร.” ประจำโรงเรียนนวมินทราชูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า หมู่บ้านสัมมากร กรุงเทพฯ
• พ.ศ. ๒๕๓๙
o ออกแบบพระอุโบสถ วัดไทยลุมพินีมหาวิหาร ประเทศเนปาล
o ออกแบบบุษบก ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
o ออกแบบหอพระ”พุทธพุทธารญาณ” โรงเรียนราชวินิตศึกษา จังหวัดลพบุรี
o ออกแบบพระมหาเจดีย์วัดทิพย์รัฐนิมิต (วัดบ้านจิก) จังหวัดอุดรธานี
• พ.ศ. ๒๕๔๐
o ออกแบบพระตำหนักแปรพระราชฐาน อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในโครงการคืนสู่แผ่นดินเกิดลุ่มน้ำปากพนัง สนองพระราชดำริ
o ออกแบบพระอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม จังหวัดกระบี่
o ออกแบบหอพระฟาร์มจระเข้ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
• พ.ศ. ๒๕๔๑
o ออกแบบหอประชุม เปรม ๑๐๐ ปี โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
o ออกแบบเจดีย์พระธาตุ วัดภูริทัตตปฏิปทาราม ตำบลสามโคก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
o ออกแบบศาลาไทยกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ สวนสาธารณะโมดิอิน กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล
o ออกแบบศูนย์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
o ออกแบบตกแต่งวิหารพระนาคปรก วัดพระธาตุช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
• พ.ศ. ๒๕๔๒
o ออกแบบบุษบกประดิษฐานพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
o ออกแบบพระพุทธมหามงคลมหาราช อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
• พ.ศ. ๒๕๔๓
o ออกแบบศาลาไทยเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมันนี
o ออกแบบหอระฆัง วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ
o ออกแบบตำหนักสมเด็จฯ วัดไทยลุมพินีมหาวิหาร ประเทศเนปาล
• พ.ศ. ๒๕๔๔
o ออกแบบเรือนไทยหมู่ ณ เมืองคลินตัน ประเทศแคนนาดา (ECHO VALLEY RANCH RESORT, Jesmond, Clinton, BC Canada.
o ออกแบบกำแพงแก้วและประตู วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ
• พ.ศ.๒๕๔๕
o ออกแบบหมู่เรือนไทย เรือนรับรองสถาบันการแพทย์แผนไทย จังหวัดนนทบุรี
o ออกแบบศาลาหลักเมืองจังหวัดยะลา
• พ.ศ.๒๕๔๖
o ออกแบบพระประธาน วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี
o ออกแบบพลับพลาสมเด็จพระนางเจ้าฯ จังหวัดปัตตานี
o ออกแบบหอพระโพธิ์ทอง จังหวัดอุดรธานี
• พ.ศ.๒๕๔๗
o ออกแบบพระประธานหยก วัดไทยลุมพินีมหาวิหาร ประเทศเนปาล
o ออกแบบศาลาการเปรียญวัดทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
o ออกแบบเรือนไทยวรรณคดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ จังหวัดปทุมธานี
o ออกแบบเมรุฌาปนกิจวัดมงคลทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
• พ.ศ.๒๕๔๘
o ออกแบบหอพระมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี
o ออกแบบศาลาไทยอีสเวสเซ็นเตอร์ ฮอนโนลูลู ประเทศฮาวาย
o ออกแบบบุษบกพระบรมสารีริกธาตุ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อำเภออ้อมน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
o ออกแบบพระอุโบสถ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อำเภออ้อมน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
o ออกแบบพระอุโบสถวัดกะเบียด จังหวัดนครศรีธรรมาราช
• พ.ศ. ๒๕๔๙
o ออกแบบหมู่กุฏิสงฆ์ วัดพยัคฆาราม จังหวัดสุพรรณบุรี
o ออกแบบบ้านคุณวิทยา ชนาพรรณ จังหวัดสมุทรปราการ
o ออกแบบพระจตุคามรามเทพ พระประจำจังหวัดกระบี่
o ออกแบบพระไภษัชคุรุไวทูรประภา วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี
o ออกแบบเรือนไทย ศ.อุดม วโรดมสิกขดิตถ์
o ออกแบบพระประธานและพระอุโบสถ วัดโป่งขนมจีน จังหวัดจันทบุรี
o ออกแบบเรือนไทยหมู่ พิพิธภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
• พ.ศ.๒๕๕๐
o ออกแบบศาลาไทยเฉลิมพระเกียติ ๘๐ พรรษา เมืองชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา
o ออกแบบเรือนสปาและศาลาขายเครื่องดื่ม บูรพากอล์ฟพัทยา จังหวัดชลบุรี
o ออกแบบวิหารอนุสรณ์สถาน คุณพงษ์จรี ตันนาภัย วัดกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
o ออกแบบพระมหาเจดีย์ วัดเมือง จังหวัดยะลา
o ออกแบบพระจตุคามรามเทพ จ้าวเศรษฐีศรีวิชัย จังหวัดสงขลา

ตัวอย่างรูปภาพผลงานที่ออกแบบโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สุวรรณคิรี

ผลงานในต่างประเทศ




HAWAII
Project
ผลงาน : The Royal Sala Thai
ศาลาไทยในศูนย์อีสต์เวสต์เซ็นเตอร์
Location
สถานที่ตั้ง : Hawaii, USA.
ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 2008
๒๕๕๑



INDIA
Project
ผลงาน : The Chapel of Wat Thai Kusinara Mahaviharn
พระอุโบสถวัดไทยกุสินารามหาวิหาร
Location
สถานที่ตั้ง : India
เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 1995
๒๕๓๘




GERMANY
Project
ผลงาน : Chaloem Phrakiat Thai Pavilion
ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ
Location
สถานที่ตั้ง : Hamburg State, Federal Republic of Germany
เมืองฮัมบวก ประเทศเยอรมันนี
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 1999
๒๕๔๒




CANADA
Project
ผลงาน : The cluster of Thai house at Echo Valley Resort
เรือนไทยหมู่ ณ เอ็คโค่ วัลเลย์ แรนช์ สปา แอนด์ รีสอร์ท
Location
สถานที่ตั้ง : Clinton City, Vancouver, Canada
เมืองคลินตัน มลรัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 2000
๒๕๔๓


ตัวอย่างผลงานในประเทศ ประเภทอาคารหมู่เรือนทรงไทยเดิม


Project
ผลงาน : The group of 9 Thai houses
เรือนหมู่ ธ ทูลกระหม่อมแก้ว พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย
Location
สถานที่ตั้ง : Nakornnayok
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ วิทยาเขตองครักษ์ จังหวัดนครนายก
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 2009
๒๕๕๒



Project

ผลงาน : The centre of culture and tradition
(Cluster of Thai house)
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Location
สถานที่ตั้ง : Chulalongkorn University, Bangkok
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 1988
๒๕๓๑



Project
Project

ผลงาน : The cluster of Thai house at Associated
Professor Dr. Pinyo Suwankiri's house
เรือนไทยหมู่ของ ศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี
Location
สถานที่ตั้ง : Bangkok
กรุงเทพฯ
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 2004
๒๕๔๗


ตัวอย่างผลงานประเภทวัด และอุโบสถ


Project
ผลงาน : A library named “Library Vichern Dhamma”
อาคารห้องสมุดวิจารณ์ธรรม จิตตภาวันวิทยาลัย
Location
สถานที่ตั้ง : Chittabhavan College, Chonburi
จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 1968
๒๕๑๑


Project

ผลงาน : The Buddha Image Shrine of
Chonburi Hospital
หอพระ โรงพยาบาลชลบุรี
Location
สถานที่ตั้ง : Chonburi
อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
Year
ปีที่ก่อสร้าง : 1992
๒๕๓๕


แหล่งที่มาของส่วนที่1 :
http://th.wikipedia.org/wiki
http://art.culture.go.th/
http://www.thaigoodview.com/library/contest2552/type2/art04/07/thai@house/html/house-dr01.html
http://www.thai-architecture.com



*****************************************************************************

ส่วนที่ 2

การวิเคราะห์แนวความคิดในการออกแบบจากอาคารกรณีศึกษาตัวอย่าง

อาคารตัวอย่างที่นำมาศึกษา : เรือนไทยหมู่ของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี

เรือนไทยหมู่ของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ซึ่งเป็นบ้านของอาจารย์ภิญโญ หลังนี้มีการออกแบบเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยโดยเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทยโบราณ ซึ่งยังคงลักษณะของเรือนไทยดั้งเดิม อย่างครบถ้วน แต่ได้ปรับพื้นที่ในด้านประโยชน์ใช้สอยให้สอดคล้องต่อการดำรงชีวิตแบบสมัยใหม่ โดยจะมุ่งใช้พื้นที่ใช้สอยทุกตารางนิ้ว ภายในเรือนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดเนื่องจากราคาที่ดินในกรุงเทพฯมีราคาสูงขึ้น พื้นที่ใต้ถุนจึงไม่ควรปล่อยร้างไว้ดังเช่นเรือนไทย ในสมัยก่อน แต่ปรับเปลี่ยนเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องจัดเลี้ยง ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องประชุม และห้องบรรยายในชั้นใต้ดิน




แนวความคิดในการออกแบบบ้านของอาจารย์ภิญโญท่านคือ การผสมผสานระหว่างความเป็นไทยโบราณเข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่โดยประยุกต์การใช้งานเพื่อรองรับทุกๆกิจกรรมที่เกิดขึ้น การจัดวางผังของตัวบ้านยังเป็นแบบโบราณคือ วางผังให้รับลม และหันตัวอาคารให้ขวางกับแนวของแสงแดด และยกใต้ถุนสูง แต่ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนคือเรื่องของโครงสร้างที่ใช้สร้างอาคาร ในส่วนใช้ใต้ถุนจะมีฟังก์ชั่นเพิ่มเข้ามานั่นคือ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหารห้องรับแขก ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น เป็นส่วนที่มีเพิ่มมาแตกต่างจากไทยเดิม และตัวคานใช้เป็นโครงสร้างเหล็กชนิด “i-beam” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแรงที่ดีกว่าไม้ แต่หล่อปูนปิด เพื่อให้เป็นรูปทรงเช่นเดียวกับตัวบ้านไทยโบราณ






การวางผังก็เหมือนเรือนไทยทั่วไปโดยปกติ นั่นคือหอกลางจะรับลมทิศใต้ เจาะหน้าต่างรับลม การวางเรือนวางตามตะวันให้เย็น ชานด้านนอกก็ปลูกต้นลำดวน หลักในการเลือกต้นไม้ให้เข้ากับบ้านมี 5 ข้อ คือหนึ่งใบไม่ร่วงมาก สองโตช้าเพื่อป้องกันการไปพาดชายคา สามไม่มีบุ้ง สี่ดอกหอม ห้ารากไม่ทำลายอาคาร





อาจารย์ท่านได้นำหลักการออกแบบของ Modern Living เข้ามาช่วยในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกและการใช้งาน นั่นก็คือการผสมผสานระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ที่ลงตัวโดยเฉพาะในเรื่องของการใช้สอยพื้นที่ และ วัสดุต่างๆ ตัวอย่างเช่น บ้านในสมัยก่อนนั้น จะไม่นิยมใช้พื้นที่บริเวณใต้ถุนบ้าน ยกสูงเพื่อหนีน้ำท่วม และความสูงก็ไม่สูงมากนัก แต่สำหรับบ้านทรงไทยหลังนี้ได้ผสมผสานให้ชั้นใต้ถุนเป็นพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม นั่นก็คือ ชั้น1ที่เกิดขึ้น ประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องทำงาน ห้องครัว และ ห้องรับประทานอาหาร ซึ่งในหลาย จุดเป็นองค์ประกอบใหม่ ที่เรือนไทยสมัยก่อนไม่มี นอกจากนี้ยังได้เพิ่มห้องใต้ถุนเอาไว้ด้วยเพื่อสำหรับบรรยายหรือการเรียนการสอนเพิ่มเติมในบ้าน ส่วนในเรื่องของวัสดุได้มีการนำวัสดุสมัยใหม่ ที่นอกเหนือจากไม้ที่เป็นของเดิมเข้ามาด้วย นั่นคือส่วนของชั้น1 จะเป็นไม้ผสมคอนกรีต เพื่อให้มีความคงทนมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มาในส่วนที่ 2 :
รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคิรี
http://www.thaigoodview.com/library/contest2552/type2/art04/07/thai@house/html/house-dr01.html
http://www.thai-architecture.com/th_houses/thai_house001th.html

หมายเหตุ ในส่วนที่2 เป็นส่วนที่ผู้เขียนจัดทำขึ้นและ วิเคราะห์ท้้งหมด ห่างผิดพลาดประการใด จึงขอ อภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทริปบ้านเขาแก้ว หอวัฒนธรรมไทยวน ตลาด100ปี

บ้านเขาแก้ว บ้านอาจารย์ทรงชัย

ความประทับใจแรกที่เห็นน่าจะเป็นการที่มีคูน้ำเล็กล้อมรอบตัวบ้าน การที่จะเข้าถึงความเป็นส่วนตัวได้นั้นจะต้องผ่านสะพานไม้เล็ก ที่มีศาลาพักคอยก่อนที่จะถึงลานดินหน้าตัวบ้าน ซึ่งแค่จุดนี้ก็ให้บรรยากาศที่ร่มรื่นแล้ว แม้มองจากภายนอกก็เห็นต้นไม้กั้น space ภายนอก เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวภายในบริเวณบ้าน
อายุตัวบ้านมีความเก่าแก่มากประมาณ100ปี แต่ตัวหลังเปลี่ยนใหม่เป็นสังกะสี การออกแบบบ้านหลังนี้ อ.ท่านบอกไว้ว่า เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากบ้านไทยเก่าๆหลายๆหลังและหยิบเอาจุดเด่นมาปรับปรุงบ้าง และกลายมาเป็นบ้านหลังนี้ ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศบ้านไทยสมัยโบราณ
ลานโล่งด้านหน้าบ้านจะเป็นลานดินไม่ปลูกหญ้า เพราะลานดินเป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทยโบราณ และยังสามารถอุ้มน้ำได้มากเวลาฝนตก ทำให้เย็นสบาย นอกจากนี้ยังทำให้เลี้ยงสัตว์ต่างๆได้สะดวกเหมือนบ้านไทยโบราณสมัยก่อน ที่นิยมเลี้ยงสัตว์หลายๆชนิดให้เกื้อกูลกัน หรือเลี้ยงเพื่อเอาไว้ใช้งาน และเฝ้าบ้าน
ผังอาคารเป็นแบบหมู่เรือน ปลูกรวมกันอยู่ ด้านหลังเป็นสวนมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ ลึก1.60เมตรปลูกเอาไว้ เลี้ยงปลาและเพื่อให้เกิดความร่มรื่น ด้านหลังมีหลายเรือนที่สามารถลงไปสัมผัสกับบ่อน้ำได้ทำให้เกิดกิจกรรมริมน้ำได้เหมือนกับบ้านไทยโบราณเช่น การอาบน้ำ ซึ่งในจุดน้ำจะมีปรากฏในเรือนพักผ่อนที่อยู่ตรงกลางของสระน้ำ และมีแนวต้นไม้บังสายตาเพื่อไว้กันคนนอก และให้เกิดความเป็นส่วนตัวด้วย ด้านหลังของที่เป็นทุ่งนาโล่ง ฉะนั้นเมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำจะไม่สูงขึ้นแต่จะไหลลงสู่ทุ่งนาแทน




หอวัฒนธรรมไทยวน
เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้อิทธิพลมาจากล้านนา ตัวอาคารถูกปลูกอยู่บนที่ลานชัน แต่สามารถแก้ปัญหาพื้นที่ได้ โดยลดระดับอาคารลงมาเรื่อยๆทำให้เกิดเป็นพื้นที่ต่างๆเช่น ลานที่ยื่นออกมาด้านล่างใช้เป็นส่วนนั่งพัก และเก็บของได้ ส่วนบางพื้นที่มีการเล่นระดับมาทำให้เกิดเป็นเวทีที่มีระดับความสูงไม่เท่ากัน และด้านล่างเป็นลานที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ทำให้เกิด space ที่ดูร่มรื่น
และด้วยที่อาคารแห่งนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำ จึงทำให้เกิดความชุ่มชื้นร่มเย็น และได้มีการปลูกมีเรือนแพเอาไว้อยู่อาศัยด้วย



ตลาด100ปี

ตัวตลาดจะมีอาคารเก่าตั้งยาวเป็นแถวขนาบ2ข้างทาง แต่จะมีอยู่ฝั่งเดียวที่มีอายุถึง100ปี แต่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีความคงทนมากขึ้น เช่นหลังคาที่เปลี่ยนใหม่เป็นสังกะสี และ บางอาคารก็ได้ให้วัสดุสมัยใหม่เข้ามาให้ความแข็งแรงด้วยเช่น ปูน หรือเหล็ก ส่วนอีกฝั่งได้ต่อเติมจนหมดเมื่อ40 ปีที่ผ่านมา
ประวัติแต่เดิมจากผู้คนแถวนั้นได้บอกเอาไว้ คือพื้นที่แถวนี้เมื่อก่อนจะมีครอบครัวอยู่เพียง 4 ครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานเอาไว้ แต่จากนั้นก็ได้ล้มหายตายจากไปบ้าน หรือ เปลี่ยนที่อยู่อาศัยไปบ้าง หรือบ้างก็มีครอบครัวใหม่เข้ามาอยู่อาศัย แต่ยังมีคงเหลือครอบครัวเดิมเอาไว้จริงๆแค่1ครอบครัวเท่านั้น (ตามที่ได้ฟังจากคำบอกเล่า)

ทริปสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
อาคารเป็นแบบอยู่เป็นหมู่เรือน สร้างอยู่บนน้ำทั้งหมดอาศัยอยู่รวมกันเป็นเครือญาติ ด้านหลังเป็นทุ่งกว้างใช้สำหรับเพาะปลูก โดยรอบสามารถสัญจรรอบตัวบ้านได้เนื่องจากมีกระดานไม้ปูอยู่ ในบางจุดมีการใช้วัสดุสมัยใหม่มาใช้แก้ปัญหาในเรื่องต่างๆเช่น แผ่นสังกะสี นำมาทำเป็นรางรองน้ำใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนโครงสร้างบางส่วนก็ใช้วัสดุสมัยใหม่ผสมกับของเดิมที่มีอยู่ ทำให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมพื้นถิ่นและสมัยใหม่ได้เด่นชัด
มีการเล่นระดับของ space อยู่หลายจุด ทำให้เกิดการใช้งานได้หลากหลายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น ชานหน้าบ้านมีการลดระดับของพื้นก่อนขึ้นตัวบ้าน ทำให้เกิดเป็นที่นั่งพักโดยไม่ได้ตั้งใจ และยังทำให้สามารถทิ้งหลังคาลงมาได้ต่ำกว่าเดิมอีกด้วย เมื่อมองจากภายนอกจึงดูสมส่วนมากกว่า และไม่จำเป็นต้องยกหลังคาให้สูงกว่าความเป็นจริง

โรงเรียนรุ่งอรุณ
โรงเรียนแห่งนี้มีแนวคิดที่จะออกแบบอาคารให้เหมือนกับบ้านไทยโบราณโดย จุดที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจะเป็นส่วนของฝ่ายบริหารของโรงเรียน ที่เป็นอาคารแบบหมู่เรือน แต่ภายในถูกประยุกต์ให้เป็นรูปแบบสมัยใหม่ มีการนำเครื่องปรับอากาศเข้ามาใช้ ใต้ถุนถูกประยุกต์ให้สามารถใช้งานได้ เป็นห้องต่างๆ ส่วนชานเรือนด้านบน จะมีกระเบื้องหลังคาเมทัลชีทรองเอาไว้ก่อนส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าไปในห้องที่อยู่ด้านใต้ได้
ส่วนร้านค้าและโรงอาหารต่างๆก็มีส่วนสนับสนุนที่จะให้เด็กได้สัมผัสถึงความเป็นไทย โดยอุปกรณ์บางชนิดอาจจะใช้ใบตองเข้ามาช่วย หรือวัสดุที่เป็นธรรมชาติเพื่อปลูกฝังให้เด็กเกิดความอนุรักษ์ด้วยไปในตัว ลักษณะการออกแบบของตัวร้านค้าและห้องเรียนต่างๆก็ยังใช้ศิลปะแบบไทยประยุกต์เช่นกัน


สถาบันอาศรมศิลป์
เป็นสถาบันสอนการออกแบบในระดับปริญญาโท และเป็นบริษัทออกแบบอีกด้วยที่เน้นไปในเชิงอนุรักษ์นิยม ตัวอาคารเป็นไม้ในบางจุดใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก แต่บางจุดใช้ตกแต่งเพียงอย่างเดียว มีปูนเข้ามาผสมด้วยเพื่อความแข็งแรง และหลังคามุงด้วยหญ้าแฝก เพื่อให้เหมือนกับบ้านไทย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดของบ้านไทยที่มีพื้นที่น้อยและไม่มีฝ้าเพดาน จึงได้เพิ่มระดับของชั้นขึ้นไปเป็นชั้นลอยให้สามารถใช้งานได้อีก ทำให้พื้นที่ที่มีอยู่ข้างบนอันเนื่องมาจากหลังคาที่สูงกว่าบ้านไทยทั่วไป ไม่ต้องสูญเปล่า ซึ่งเป็นข้อหนึ่งที่ตัวผู้เขียนประทับใจมาก เพราะสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ใช้สอยได้เป็นอย่างดี และแก้ไขโดยที่นำข้อบกพร่องเรื่องspaceเพดานที่สูงมาแก้ แต่ยังคงความเป็นไทยประยุกต์ในเรื่องของสัดส่วนอาคารได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มหมู่เรือนอีกเลย
Landscape ภายนอกก็ถูกจัดให้ล้อกับตัวอาคาร มีชานใหญ่สำหรับรับแขกเห็นเด่นอยู่ สูงประมาณ1.50 เมตร มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงข้ามทำให้มีความร่มรื่นชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา การจัดฟังก์ชั่นภายในของตัวสถาบันก็ทำไดอย่างลงตัว แบ่งสัดส่วนกันชัดเจน พื้นที่ใต้ถุนก็ไม่ทำให้เปล่าประโยชน์ใช้เป็นส่วนของห้องสมุดและห้องทำโมเดลได้เป็นอย่างดี

ทริปวันที่9

วันที่1 สิงหาคม 2553
DAY 9 ฟ้าสดใส แดดไม่แรงมาก เมฆพอประมาณ แต่เป็นวันสุดท้ายแล้ว ไม่รู้จะเศร้าหรือดีใจดี


ตื่นสาย มึน ง่วง เพลีย แฮ๊งค์ เมา! สงสัยเมื่อคืนจัดหนักไปหน่อย เมื่อตื่นมาคิดว่าสายแล้ว รีบกระโจนไปอาบน้ำแต่งตัว จากนั้นจึงแพ็คกระเป๋าเก็บของ พร้อมทั้งกระโดดลงไปที่รถก่อนเพื่อนแบบไม่ปรึกษาใคร วางกระเป๋าใต้รถแล้วรีบชิ่งขึ้นไปนอนบนรถก่อนเพื่อนเลย สรุปยังไม่สายมากนัก แอบร้อนอยู่บนรถตั้งนาน แต่ไม่เป็นไรดีกว่าตกรถ พอล้อเริ่มหมุนก็เข้าสู่ห้วงนิทราอีกครั้ง

วัดราชบูรณะ
สิ่งที่ได้เห็นเป็นสิ่งแรกคือลานดินที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยอีกครั้ง แต่ตัววัดมีสไตล์ล้านนาอยู่บ้าง ทำให้เหมือนได้เห็นวัดโบราณก่อนที่จะล่มสลายไป เมื่อเข้าไปด้านในมีการปรับปรุงตัววัดใหม่ ใช้วัสดุสมัยใหม่เข้ามามากจึงทำให้ความประทับใจหลังจากที่เข้ามาภายในวัดดูน้อยลงกว่าที่ควร แต่ภายนอกมีสถานที่ให้สะเดาะห์เคราะห์และทำบุญมากมายหลายอย่าง เช่นลอดใต้ท้องเรือ ระฆังใหญ่หน้าอุโบสถ ปีนลอดง่ามต้อนโพธิ์ในวัด และทำบุญถวายพระ




วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากและมีพระพุทธรูปให้สักการบูชาอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ที่น่าสนใจที่สุดคงจะเป็นการจัดวางวิหารคด และเส้นทางการสัญจร ในวิหารคดมีพระพุทธรูปตั้งอยู่เรียงรายกัน แต่มีหลักในการตั้งโดยทิศทางที่หันหน้าจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่จะเป็นคนละทิศกับพระประธาน และในทางเดินของวิหารคดจะเจาะช่องแสง เป็นเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมือนสไตล์สุโขทัย ที่ได้ไปชมมาก่อนหน้านี้




สิ้นสุดการเดินทาง เหลือแต่การกลับไปสู่เมืองหลวง เมืองที่เน้นแต่เทคโนโลยีและแสงสีเสียง เมืองที่รับเอาวัฒนธรรมทุกๆด้านมาโดยไม่ปฏิเสธ เมืองที่ลืมรากเหง้าของตัวเอง เมืองที่ผมเติบโตมา แม้ว่าแต่ละเมืองที่ได้ไปชมที่จะมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่การจะรักษาวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสด้วยนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและยากยิ่งกว่าทุกอย่าง และสิ่งเหล่านั้นกำลังจะเลือนหายไป จะมีสักกี่คนที่เห็น จะมีสักกี่คนที่เข้าใจ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่านอกจากการออกแบบอาคารให้ดูเท่แล้ว ไม่เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ มันจะมีความหมายอะไร ผมก็คือหนึ่งในสักคนนั้น ขอบคุณที่ทำให้ผมเริ่มเข้าใจอะไรบางอย่าง ขอบคุณทริปเก้าวันที่แสนมีค่า ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้ความรู้ตลอดการเดินทาง ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่ร่วมฝ่าฝันเก้าวันแสนโหดและแสนสนุกไปด้วยกัน ขอบคุณเช่นกันนะที่ไปเที่ยวด้วยกัน ตลอดเวลาเก้าวัน^ ^ และที่สำคัญ ขอบคุณอาจารย์จิ๋วมากครับ

ทริปวันที่8

วันที่31 กรกฎาคม 2553
DAY 8 ฟ้าสดใส แดดแรง เมฆน้อย


วันนี้ตื่นเช้ามาไม่ค่อยงัวเงียเหมือนเดิมแล้ว อาจเป็นเพราะร่างกายเริ่มชินกับการนอนน้อยแล้วก็เป็นได้ แต่เรื่องซื้อข้าวยังเป็นเรื่องปกติอยู่จึงจำใจไปซื้อแต่เช้าเช่นเคย วันนี้เลือกผัดกระเพราไข่ดาว พร้อมทั้งเลือกเมนูที่เหมือนกันให้เพื่อนอีก2คนที่ฝากซื้อให้ด้วย

บ้านญาติอาจารย์ตี๋
ความประทับใจแรกที่เห็นก็เกิดขึ้นที่โถงทางเข้าแล้ว วัสดุที่เห็นเกือบทั้งหมดเป็นไม้ และสีที่ให้ดูสบายตามากๆ แต่กลับดูน่าสนใจอย่างบอกไม่ถูก เมื่อเดินเข้าไปภายในตัวบ้าน มีการนำของเก่ามาตกแต่งเพื่อให้เป็นสไตล์เก่าๆ โบราณ สิ่งที่สะดุดตาอีกอย่างคือวิทยุโบราณ ที่ยังใช้งานได้อยู่เปิดให้เสียงดังไพเราะไปทั่วบ้าน และเมื่อเดินมาถึงสวนหลังบ้าน เป็นสวนที่จัดแล้วดูสงบมากๆ ให้บรรยากาศของความเป็นต่างจังหวัดมาก แต่ดูบางที่มีการเอาสไตล์ตะวันตกมาใช้ แต่โดยหลักๆคือความเป็นไทย ชิงช้าไม้ ที่นั่งไม้ หรือแม้แต่ที่นอนพักผ่อน ให้ความรู้สึกที่สงบเอามากๆ




สนามบินสุโขทัย
เป็นสถานที่ที่ตัวผู้เขียนรอคอยมาตลอด8วัน ด้วยความชอบส่วนตัวเป็นคนที่ชอบสนามบินมากๆมาตั้งแต่เด็ก และยิ่งเป็นสนามบินที่มีการประยุกต์แบบไทยเข้ามาผสมผสานแล้วด้วยนั้น ยิ่งทำให้รู้สึกดีมากขึ้นกว่าเดิมอีก
ตัวสนามบินทางเจ้าของนั้นต้องการให้ยึดแนวความคิดของไทยเป็นหลัก จึงได้มีการออกแบบตัวอาคารให้ถอดแบบมาจากวัดไทย และนำมาประยุกต์ให้ดูทันสมัยโดยใช้อิฐ ศิลาแลง และฉาบปูนด้วยบางส่วน แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานภายในยังคงเป็นสมัยใหม่อยู่ทั้งหมด แต่เพียงแค่ตกแต่งให้ดูเป็นโบราณสถานเท่านั้น และทุกๆจุดของอาคารจะประดับด้วยดอกกล้วยไม้เสมอซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเอง
เจ้าของออกแบบตั้งใจให้นำเสนอความเป็นไทยมากที่สุด และต้องการที่จะนำเสนอจังหวัดสุโขทัยด้วย จึงมีสวนพฤกษาและ ฟาร์มเลี้ยงควายเอาไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือลงจากเครื่องได้สัมผัสความเป็นไทยอย่างชัดเจน ทำให้ภายในตัวterminal จึงใช้ลมธรรมชาติเป็นหลัก แทนที่จะมีเครื่องปรับอากาศ แต่ตรงส่วนอาคารใหญ่จะใช้ระบบน้ำเปิดเอาไว้ที่หลังคา เพื่อให้เกิดความเย็นจากธรรมชาติโดยแท้จริง และตัวอาคารพยายามให้เปิดโล่งมากที่สุด มีผนังทึบน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างspace ภายในและภายนอก





Sukhothai Heritage Resort
นอกจากนี้ภายในตัวสนามบินยังมีโรงแรมหรูระดับ 4 ดาวอีกด้วย และยังคงใช้แนวความคิดมาจากวัดโบราณเช่นเดิม สิ่งที่เด่นเป็นจุดหลักของโครงการคือสระน้ำใหญ่ที่อยู่ด้านในของโครงการ และมีน้ำพุเปิดตลอดเวลา ทำให้รู้สึกชุ่มชื้น และไม่ร้อนจนเกินไป บางจุดมีการเจาะช่องแสงเพื่อล้อเลียนกับช่องแสงที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง อยู่เป็นระยะๆ แต่มีบางจุดเป็นข้อบกพร่องที่เห็นได้ชัดจากการออกแบบ เช่น จุดที่เป็นช่องแคบระหว่างโถงกับทางเดิน จะมีช่องที่เป็นร่องน้ำอยู่กว้างประมาณ40cm แต่มีรางระบายน้ำและต้นไม้มาขวางไว้ ซึ่งทำให้สามารถดูได้ว่าเป็นงานที่มาตกแต่งภายหลัง และอีกสิ่งที่ประทับใจในงานนี้อีกอย่างคือก่อนที่จะเข้าไปในตัวโรงแรมต้องข้ามสะพานเสียก่อนและมีศาลาขนาดใหญ่มารองรับ เหมือนเป็นการข้ามเข้าสู่ความเป็นส่วนตัว และยังเป็นการแสดงถึงแนวความคิดที่เป็นไทยอีกด้วย





สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
ตัวอย่างวันนี้ทำให้ได้เห็นถึงความฉลาดของภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งการใช้งานในแต่ละอย่างสัมพันธ์กันอย่างลงตัว แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เช่นชานเรือนที่ยื่นออกมาเพราะไม้ที่เกินมาแต่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมายเช่น วางกระถางต้นไม้เพื่อความงาม หรือเป็นทางเทียบเกวียนให้ขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งได้อีกด้วย และด้วยวัสดุที่ธรรมชาติที่ใช้ คือไม้ขนาดต่างที่มาทำเป็นผนังไม่ว่าจะเป็นไม้แผ่นหรือไม้ไผ่ แต่มันทำให้เกิดเส้นสายของตัวมันเองอย่างไม่ได้ตั้งใจ และเป็นความงามอย่างบอกไม่ถูกเลย แต่ที่ประทับใจมากที่สุดตั้งแต่ได้มาชมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือ เมื่อเดินไปทางหลังบ้าน จะพบกับทุ่งนาข้าวที่เขียวขจี แม้ว่าจะเป็นเวลาเย็นแต่แสงแดดอ่อนๆก่อนพระอาทิตย์ตกดินตัดกับสีเขียวขจีของทุ่งนาดูงดงามเอามากๆ เป็นบรรยากาศที่ไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดหรือรูปภาพได้เลย





คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของทริป แน่นอนต้องมีการเลี้ยงฉลองสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว และด้วยความที่ห้องนี้มีงานฉลองอยู่ทุกคืน มีหรือที่คืนนี้จะปล่อยให้ห้องเงียบเหงา และด้วยวันที่พิเศษกว่าทุกคืน จึงมีการฉลองด้วยเครื่องดื่มบางชนิด สุดท้ายก็จบลงด้วยการนอนเกือบสว่างอีกครั้ง และก็หลับลงไปพร้อมกับความมึนเมา

ทริปวันที่7

วันที่30 กรกฎาคม 2553
DAY 7 ฟ้าครึ้มทั้งวัน แต่เมฆน้อยกว่าเมื่อวาน ถ่ายรูปแล้วเข้ากับโบราณสถานเป็นอย่างดี


เช้าวันใหม่อันแสนสดใส ต้องออกไปซื้อกับข้าวทานเองอีกแล้วในตอนกลางวัน จริงๆก็ไม่รังเกียจเรื่องอาหารการกินอยู่แล้ว แต่แอบสงสัยทุกที ว่าตอนกลางวันเวลาเราพักก็มีร้านอาหารเสมอเลย จริงๆไม่จำเป็นต้องซื้อเลยก็ได้นี่นา แต่เห็นอาจารย์บอกอาหารที่เราจะไปทาน มันไม่ค่อยอร่อย เลยซื้อกินก็ได้(ละกัน)

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร
สิ่งประทับอันดับแรกก่อนที่จะได้เข้าไปชมตัวโบราณสถานก็คือ สะพานแขวนระนาบคู่ขนาดใหญ่ที่ใช้ข้ามแม่น้ำนั่นเอง แม้ว่าจะเป็นเพียงสะพานที่ให้คนข้าม แต่ด้วยวัสดุที่ใช้เป็นพื้นไม้และลวดสลิงขึงตึง กลับเข้ากับบรรยากาศของสถานที่ได้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นการเตรียมตัวที่จะเข้าไปผจญภัยในโบราณสถาน
ตัววัดนี้ได้มีการสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัย บางรายละเอียดแสดงให้เห็นถึงศิลปะแบบขอมเช่น ซุ้มประตูซึ่งเป็นประติมากรรมศิลาแลงประดับปูนปั้น แต่ตัวปรางค์ประธานของวัดเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น อาจเป็นเพราะว่าเป็นช่วงที่มีการรวมสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา จึงได้รับอิทธิพลเข้ามาด้วย ส่วนภายในโบราณสถานรอบๆปรางค์มีทางเดินและก่อผนังปิดอยู่สามชั้นด้วยกัน แต่ช่องทางเดินแต่ละช่องมีความกว้างไม่น่าเกิน1.50เมตร แต่ไม่รู้สึกอึดอัดเลย อาจเป็นเพราะมีการเจาะช่องแสงอยู่ตลอดบางเป็นบางช่วง และ แต่ละชั้นก็มีการเล่นระดับ ทำให้เป็นถึงความไม่น่าเบื่อจนเกินไป แต่ในอดีตได้มีการสันนิษฐานอีกว่าเป็นสถานที่ ที่ให้พระสงฆ์นั่งเรียงราย ล้อมอยู่ตลอดแนว และให้ประชาชนได้เดินผ่านเข้ามาตามทางนี้ ช่องแสงที่เจาะไว้ก็เพื่อให้ได้เห็นองค์พระนั่นเอง





วัดกุฎีราย
ตัววิหารถูกก่อด้วยศิลาแลงไปจนถึงหลังคา ส่วนตัวซุ้มของวิหารนี้จะแปลกกว่าที่อื่นตรงที่เป็น คอเบล ตัวอิฐจะถูกก่อขึ้นไปและเหลี่อมล้ำจนไปจบกันบนยอด จึงมีลักษณะเมื่อดูแล้วจะเป็นซุ้มปลายแหลม ในพ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้บูรณะโบราณสถานที่และมีการซ่อมแซมและเพิ่มเติมบางจุดใหม่เอาไว้ด้วย การเรียงอิฐในตำแหน่งอื่นๆก็ได้เรียงให้สัมพันธ์กับอาคารไม้เดิม




ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก
เป็นการออกแบบโดยใช้โครงสร้างสมัยใหม่ แต่มีแนวความคิดที่ดึงรูปแบบของโบราณสถานสมัยก่อนเอาไว้ด้วย วัสดุที่ใช้ก็เป็นอิฐ และศิลาแลงเหมือนโบราณสถานศรีสัชนาลัย มีการเจาะช่องแสงเป็นแนวตรง ซึ่งเหมือนกับช่องแสงในโบราณสถาน นอกจากนี้ยังออกแบบให้ space ภายในและภายนอก เชื่อมต่อกันอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของโบราณสถานอีกด้วย
รูปแบบการสัญจรภายในเรียบง่ายแต่มีลูกเล่นที่การเล่นระดับ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำจนผู้เข้าชมงานเบื่อจนเกินไป และการให้ความสำคัญของตัวงาน โดยจะเจาะช่องแสงพอดีที่เตาทุเรียง เพื่อให้ได้รับแสงและอุณหภูมิที่พอเหมาะ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถรักษาสภาพของเตาได้ไม่ดีนัก เพราะเตาสัมผัสกับอากาศที่เข้ามากัดกร่อนอยู่ดี ยังมีความชื้นอยู่ แต่ด้วยช่องแสงที่เจาะจากหลังคามานั้น ทำให้ตัวงานดูเด่นขึ้นมาทันที และตัวหลังคาก็ได้มีลูกเล่นเป็นระดับเพื่อให้เป็นการระบายความร้อนด้วยอีกวิธีหนึ่ง





วัดเจดีย์เก้ายอด
ความประทับใจแรกที่ได้พบคือ เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นบนเขาและมีถนนตัดผ่านเป็นแนวโค้งทำให้ผู้ที่ขับรถผ่านไปมาได้ชมโบราณสถานแห่งนี้ได้โดยรอบด้าน และตัวผู้เขียนได้คิดสงสัยอีกว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีสถานที่ใช้สำหรับจอดพักรถให้ผู้เข้าชม แต่ตัวผู้เขียนกลับรู้สึกดีที่ไม่มีสถานที่ให้จอดรถ นั่นก็เพื่อไม่ให้มีคนเข้ามาในโบราณสถานมากจนเกินไป อาจจะกลายเป็นการเชื้อชวนให้เข้าไปทำลายโบราณสถานก็เป็นได้
ด้วยและตัวโบราณสถานก็เล่นระดับด้วยเช่นกันถูกยกให้สูงขึ้น ตามระดับของเชิงเขา และเชื่อมด้วยบันไดเป็นชั้นๆ ทำให้ดูยิ่งใหญ่มากขึ้น ส่วนด้านหลังของตัวโบราณสถานเป็นเชิงเขามีทางขึ้นสู่ด้านบนอีก ซึ่งเป็นโบราณสถานอีกที่หนึ่ง



วัดนางพญา
วัดนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้น ตัววิหารเป็นศิลาแลง มีลายสลักวิจิตรงดงาม หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา ส่วนผนังถูกเจาะเป็นช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมเช่นกัน



วัดเจดีย์เจ็ดแถว
เป็นวัดที่รวมรูปแบบต่างๆเอาไว้ด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างในสมัยนั้นมีลานกว้างขวางอยู่2ทาง และถูกล้อมรอบด้วยกำแพงเตี้ย แต่สัดส่วนกับตัวปรางค์ ยังดูไม่ขัดกันมากเกินไป




วัดช้างล้อม
ลักษณะที่เด่นที่เห็นได้ชัดของวัดนี้คือมีรูปปั้นช้างล้อมอยู่โดยรอบ เป็นเสมือนส่วนฐาน ทำให้ดูเหมือนมีช้างคอยปกป้องตัวปรางค์เอาไว้ ทำให้ฐานชั้น2ของตัวปรางค์มีขนาดใหญ่และสูงมาก ดูอลังการและยิ่งใหญ่มาก และด้านหน้าของตัวปรางค์มีลานขนาดใหญ่ ขนาบอยู่2ข้าง เพื่อให้ปรางค์ดูยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก



วัดสุวรรณคีรี
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ซึ่งกว่าจะขึ้นไปบนยอดได้นั้นต้องเดินขึ้นบันไดที่สูงชัน นับว่าเป้นความประทับใจแรกเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อได้ขึ้นไปบนยอดเขาและเห็นตัวโบราณสถานด้วยแล้วยิ่งประทับใจมากกว่า แม้ตัวโบราณสถานตั้งอยู่บนยอดเขา แต่มีต้นไม้ล้อมอยู่โดยรอบ เสียงและบรรยากาศที่ได้สัมผัสดูสงบกว่าวัดที่อยู่ด้านล่างเสียอีก มีเสียงสัตว์หลายชนิด ทำให้ตัวโบราณสถานและธรรมชาติโดยรอบดูกลืนกัน และด้วยตัวโครงสร้างที่สร้างเป็นชั้นๆให้เห็นเป็นขั้น เหมือนภูเขาด้วย เป็นเสมือนการล้อเข้ากับสภาพแวดล้อมอีกทางหนึ่ง และที่เป็นความประทับใจที่สุดของวัดสุวรรณคีรีอีกอย่างหนึ่งคือ การได้ขึ้นไปบนชั้นของปรางค์ และมองวิวทิวทัศน์ที่เกิดขึ้น



วัดเขาพนมเพลิง
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาอีกฝั่งหนึ่งของวัดสุวรรณคีรี สร้างคู่กัน แต่ด้านบนยอดมีพื้นที่เล็กกว่า จึงทำให้มีพื้นที่ของวัดอยู่จำกัด แต่สิ่งที่ประทับใจในวัดนี้เป็นบรรยากาศมากกว่าที่ได้เห็นฝูงนกและคูน้ำพร้อมทุ่งหญ้าเขียวที่อยู่ด้านล่างของวัดพอดี



กลับที่พักวันนี้พยายามหาร้านอาหารที่น่าสนใจและยุงไม่กัด เพราะวันนี้เดินผ่านทุ่งทั้งวัน จึงได้ร้านอาหารที่อยู่ด้านหลังโรงแรม สวย หรู จัดร้านน่าสนใจมี space กว้างขวาง ทางเข้าด้านหน้าเป็นกระจก ดู space ภายในและภายนอกเชื่อมต่อกันเป็นอย่างดี ที่สำคัญ ราคาไม่แพงมาก สรุปวันนี้เหนื่อยมากๆ และอาหารก็อิ่มอร่อยมากๆ คาดว่าคืนนี้คงจะได้หลับพักผ่อนเสียที่ และสุดท้ายเป็นไปเหมือนที่คาดเอาไว้ นั่นคือได้นอนเกือบสว่าง (อีกแล้ว) แถมวันนี้มีเพื่อนที่น่ารักคือ เต้ เตชัส มานอนด้วย เพิ่มจำนวนห้องจากเดิม 5 คนเป็น 6 คน ขึ้นมาทันที บนเตียงที่มีความจุเท่าเดิมคือ3คนครึ่ง และที่สำคัญกว่านั้น มันกรนดังมากด้วย ขอบคุณเต้มากๆ